หน่วยวิจัยประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ 
Community Democracy Unit for Development (CODE-TSU)
สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สนับสนุนโดย
กองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ
    คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
 
 
ข้อมูลทั่วไป
หลักการและเหตุผล
- เป้าหมายของหน่วยวิจัย
แผนการดำเนินงาน
ผลการดำเนินงาน
- บัณฑิตศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนทุน
- ผลงานตีพิมพ์
- เงินทุนที่ได้รับการสนับสนุน
- นักวิจัยใหม่ที่เข้าร่วมหน่วยวิจัย
- ฐานข้อมูล/website
- ผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์
- รูปภาพจากการดำเนินกิจกรรม
 
 
 
ความเป็นมา
 
         การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมไทย นับแต่ต้นทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา ได้นำมาซึ่งความตื่นตาตื่นใจ และความตระหนกตกใจ ไปพร้อมๆ จากการตื่นตัวอย่างขนานใหญ่ของประชาชน-พลเมือง ที่อาจกล่าวได้ว่าได้บรรลุขั้นหนึ่งของแรงปรารถนาในการปลดปล่อยตัวเองออกจากจากความเฉื่อยชา ไม่ยีหระ/ พินอบพิเทาต่อผู้มีอำนาจโดยปราศจากคำถาม ก้าวสู่การเป็นพลเมืองที่มีความรู้ เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง ไม่แตกต่าง ละความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มที่  (Fuller, 2011) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคต่างๆของประเทศไทย ในท่ามกลางพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ที่ส่งผลต่อการจัดตั้งทางสังคมในรูปลักษณะใหม่ๆ การจินตนาการ และ/ หรือความคาดหวังที่มีต่อรัฐ สังคม และคนกลุ่มใหม่ๆในสังคมชนบท (และเมือง)
         ปรากฏการณ์ที่แหลมคมคือการเกิดขึ้นของการเมืองแบบเสื้อสี “เหลือง-แดง” ที่แม้ที่ผ่านมาอาจถูกอธิบายว่าเป็นปรากฏการณ์แบบพื้นผิวของ “กลุ่มตื่นตัวทางการเมือง” มากกว่า “ขบวนการทางการเมือง” แต่ในด้านหนึ่งคือหมุดหมายสำคัญของพัฒนาการทางการเมือง การมีส่วนร่วมและการตื่นตัวทางการเมืองที่เทียบเทียมของคนกลุ่มต่างๆ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองในสังคมไทย ดังการศึกษาของ Walker  (2010) ที่ได้ศึกษาชุมชนชาวนาในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย พบว่าชาวนาไม่ใช่ผู้ทำการผลิตแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากเป็นชาวนาที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ทั้งยังมีข่ายความสัมพันธ์ของครอบครัวข้ามท้องถิ่น ที่เรียกว่า “Extra local Residents” ทำให้มีรายได้ที่ข้ามพ้นความยากจน กลายเป็นชาวนาที่มีรายได้ระดับปานกลาง หรือชนชั้นกลางระดับล่าง ที่ไม่เพียงมุ่งรักษา ยกระดับคุณภาพของการเป็นชนชั้นใหม่เท่านั้น หากยังมุ่งปรารถนาสร้างมีส่วนร่วม การตัดสินใจทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตน ผ่านการสร้าง”Rural Institution” มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับความเห็นของนิธิ (2551) ที่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในชนบทมีส่วนสำคัญต่อการตื่นตัวและการแสดงออกทางการเมือง “นับแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ชนบทประสบความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกษตรกรรมเพื่อยังชีพที่เป็นรายได้สำคัญของประชาชนเริ่มพังสลายลง เศรษฐกิจตลาดรุกเข้าไปในชีวิตมากขึ้น ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมและธุรกิจก็รุกเข้าไปสู่ชนบท เพื่อใช้ทั้งทรัพยากรและกำลังแรงงาน ทำให้การผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองในไร่นาขนาดเล็กทำได้ยากขึ้น ส่วนหนึ่งจึงหันเข้าหางานอื่นในเศรษฐกิจสมัยใหม่ โดยเฉพาะลูกหลานของชาวนารวยที่ได้รับการศึกษา มีสายสัมพันธ์กว้างขวางนอกหมู่บ้าน เช่น เป็นนายหน้าของบริษัทปุ๋ย, บริษัทรับซื้อพืชผลการเกษตร, ทำงานประจำในเมือง, เป็นผู้รับเหมารายย่อย, เป็นนายหน้าแรงงาน ฯลฯ เป็นต้น ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ที่ส่วนใหญ่มีรายได้จากงานจ้างและธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ กระนั้นความมั่นคงทางเศรษฐกิจเหล่านี้เกี่ยวโยงกันกับนโยบายของรัฐบาล มากกว่าการพึ่งพาธรรมชาติและความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แต่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่มีเครื่องมือทางการเมืองที่จะเข้าไปกำหนดนโยบายสาธารณะและพื้นที่การแสดงออกทางการเมือง จึงเป็นธรรมดาที่ยังต้องเกาะอยู่กับกลไกทางการเมืองแบบเดิม หรือการประท้วงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง”
 
         กระนั้นในท่ามกลางพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ยังมีพลังฉุดรั้ง หน่วงดึงจากกลไกเชิงสถาบัน ความเชื่อ ค่านิยม ฯลฯ มากมายในสังคมไทย  ดังความเห็นของอรรถจักร์ (2555) ที่ระบุว่า
การเติบโตของของระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ทำให้ปัจเจกบุคคลต้องแบกรับความเสี่ยงโดยลำพัง ทำให้เกิดการตระหนักถึงศักยภาพในการปกป้องตนเอง การปฏิเสธความอยุติธรรม ความไม่เสมอภาคทางสังคมด้วยการจัดตั้งเป็นกลุ่ม องค์กรและเครือข่าย และร่วมกันผลักเปลี่ยนเพื่อสร้างระบบความสัมพันธ์ทางสังคมและอำนาจที่ไม่เท่าเทียม แต่ในด้านหนึ่งมีความพยายามแช่แข็งสังคมไทยไว้ในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมที่เคยจรรโลงความไม่เท่าเทียมไว้ได้ตลอดเวลา ซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไปสู่ความขัดแย้งให้บาดลึกลงไปในสังคม หรือในทัศนะของ คายส์ (Keyes, 2012) ก็เห็นไปในทางเดียวกันว่าเกิดความไม่ลงรอยของสัญญาประชาคมแบบเดิมๆ กับการตื่นตัวอย่างกล้าหาญของพลเมือง ทำสังคมไทยเข้าสู่ภาวะพังทลายได้ (Broken Down) นิธิ (2551) ก็เห็นไปในแนวทางเดียวกันว่าภาวการณ์เผชิญหน้าอาจส่งผลทำลายกันและกันชนิด “แหลกลาญ” ได้
 
“เรากำลังเผชิญกับความตื่นตัวทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท (และในเมืองด้วย) และความตื่นตัวทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเขตเมือง ทั้งสองฝ่ายมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร และทั้งสองฝ่ายต่างมีสำนึกถึงความจำเป็นในวิถีชีวิตที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ...ตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุระบบการเมืองที่เปิดให้การมีส่วนร่วมของตนเป็นไปได้ในระดับที่ต่างฝ่ายต่างพอใจ...การเมืองไทยก็จะเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ไม่มีทางออกอย่างที่เราเผชิญอยู่เวลานี้”
 
         กระนั้นแม้ว่าภาวะความไม่ลงรอยเช่นนี้จะทำให้ประชาธิปไตยของไทย เต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้งนานัปการ ไม่เข้มแข็ง และยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร แต่ด้านหนึ่งได้ชี้ชวนให้เห็นอย่างแจ้งชัดมากขึ้นว่าไม่มีคนกลุ่มใดสามารถครอบงำอำนาจทางการเมืองไว้ในมืออย่างเด็ดขาดอีกต่อไป แต่คนมากหน้าหลายตาได้เข้ามามีส่วนในการต่อสู้และต่อรองทางการเมืองโดยแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบ ลีลา และจิตนาการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นการหาทางออกให้แก่กระบวนการไปสู่ประชาธิปไตยนั้นจำเป็นต้องมีความรู้อย่างชัดเจนว่าประชาธิปไตยของไทยได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด มีเงื่อนไขแวดล้อมหรือบริบททางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และบริบทเหล่านั้นส่งผลต่อการคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการความเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตยใน “ชุมชน”  ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม และเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่โลดแล่นแสดงบนเวทีการเมืองและประชาธิปไตยในแบบฉบับที่วาดหวัง ต้องการ และ/ หรือให้เป็นไป 
ในภาคใต้การศึกษาเกี่ยวกับการเมืองและการเป็นประชาธิปไตยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มุ่งให้ความสำคัญ พุ่งเป้าให้ความสนใจในวาทกรรม “ไม่รบนายไม่หายจน” ที่ถูกสถาปนาขึ้นด้วยการปฏิบัติการทางการเมืองที่รุนแรงในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และ/ หรือ การอธิบายคุณลักษณะ ตัวตนของ “คนใต้” ในฐานะเงื่อนไข ที่มาของความตื่นตัวและกระตือรือร้นทางการเมือง แบบเหมารวมและตายตัว
 
“คนปักษ์ใต้เป็นคนหยิ่ง ทระนง มีท่าทีไว้เชิง ไม่เปิดตัวก่อนเมื่อพบคนแปลกหน้า ฉับไวในการตั้งกระทู้หาข้อโต้แย้ง ชอบทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่ ชอบชิงการนำ ดิ่งเดี่ยวและเสี่ยงสู้ ไม่ยอมรับและเสียเปรียบใครง่ายๆ  เล่นพรรคเล่นพวก สะตอสามัคคี มีนิสัยบริการและปรนนิบัติต่ำ ไม่ยอมทำงานรับจ้างและไม่สบายใจที่จะทำตามบงการของคนอื่น...” 
“คนใต้หัวแข็ง กระด้าง หัวหมอ ขาดคารวะธรรม หยิ่ง ดุ ดื้อรั้น ปกครองยาก อัตตาสูง เป็นนักเลง พูดไม่ถนอมน้ำใจคนอื่น ไม่เก็บกักอารมณ์ โผงผาง พูดจาขวานผ่าซาก เมื่อเผชิญหน้ากับหมู่คณะอื่นมักออกมาเผชิญหน้าและปกป้องกันเอง”
 
         บทความของอนุสรณ์ (2554) เรื่อง “คนใต้ พรรคประชาธิปัตย์ และการเมืองเสื้อสี” วิเคราะห์ว่า  “ความเป็นคนใต้” ถูกวาดภาพให้เป็นคนใจนักเลง กล้าได้กล้าเสีย หัวหมอ รักพวกพ้อง เชื่อมั่นในตนเอง รักความเป็นอิสระ เชื่อมั่นในตนเอง ไม่ไว้ใจและไม่หวังพึ่งรัฐ มักโต้เถียงคัดค้านเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการอยู่เสมอ
 
         แต่ Marc Askew (2008) ได้ชี้ว่าการตัดสินใจทางการเมืองของ “คนใต้” ไม่สามารถใช้คุณลักษณะได้อย่างเด็ดขาด เพราะส่วนหนึ่งของการเป็นคนใต้ที่ตื่นตัวทางการเมือง เป็นผลมาจากการการประดิษฐ์กรรมทางสังคมโดยพรรคการเมืองที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานในพื้นที่ภาคใต้  ในการสร้างภาพ (Socio Drama) คนใต้ในฐานะที่เป็นผู้มีความกระตือรือร้น ชื่นชอบนักการเมืองที่มีคุณธรรม และต่อต้านอำนาจรัฐที่อยุติธรรม ด้วยเหตุนี้การเลือกพรรคการเมืองนั้นอย่างเหนียวแน่นจึงเป็นผลทั้งจากความสำเร็จในการประดิษฐ์สร้างพร้อมๆกับการที่คนใต้เองต้องสร้างตัวตน และชุมชนทางการเมืองในอุดมคติของตนด้วย
 
         ด้านนิธิ (2556) เห็นว่าสังคมภาคใต้นั้นหลุดออกไปจากสังคมชาวนาเข้าสู่เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์และเศรษฐกิจสมัยใหม่ก่อนคนกลุ่มอื่นในสังคมไทย  โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐมากนัก จึงต้องสร้างกลไกป้องกันความเสี่ยงขึ้นใหม่ขึ้นมาด้วยตนเองด้วยลำพังมากกว่าการรอรับการช่วยเหลือจากรัฐ ด้วยเหตุนี้ทำให้คนใต้จึงค่อยสร้างความเป็นคนใต้ที่มีนัยของการพึ่งตนเองและเอาตัวออกห่างรัฐ งานวิจัยในช่วงหลังจึงเน้น/พุ่งความสนใจไปที่การชุมชนการเมือง “อธิปัตย์” และ “การย่องเงียบ” ของการเมืองชุมชน หรือที่เรียกอย่างลำลองว่า “ประชาธิปไตยชุมชน”, งานของณฐพงศ์ (๒๕๕๖) ที่ถึงแม้จะเป็นการศึกษาชุมชนในเขตเมือง แต่รากฐานส่วนใหญ่ของสมาชิกในชุมชนมาจากชนบทโดยเฉพาะแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา ฉายให้เห็นว่าชีวิตผู้คนในปัจจุบันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโครงสร้าง ผู้คนจำนวนมากทั้งที่ใกล้และไกลออกไปจากเงื่อนไขการดำรงชีวิต เศรษฐกิจในระบบตลาดและทุน เป็นต้น ทำให้สามารถสร้างจินตนาการชีวิตที่หลายหลาก สลัดวัฒนธรรมอุปถัมภ์ และก้าวสู่พรมแดน “ชุมชนสำนึก” ที่มีศักยภาพรังสรรค์ เปลี่ยนแปลงชีวิต ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างมีคุณภาพ ทั้งในฐานะ “พลเมืองของโลก” (Cosmopolitan)  หรือ ปฏิบัติการทางการเมืองภาคชุมชนครั้งสำคัญของภาคใต้ที่รู้จักกันในนาม “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 : คนใต้กำหนดอนาคตตนเอง เมื่อ ปีพ.ศ. 2554 เพื่อร่วมกันคัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้จากอุตสาหกรรมเลื่อนลอย ไม่ว่าจะเป็น นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี โรงถลุงเหล็กต้นน้ำ สะพานเศรษฐกิจที่เน้นการขนส่งน้ำมันและผลผลิตต่อเนื่อง ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ่านหิน เป็นต้น
 
         ดังนั้นจึงควรที่จะได้มีการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนในชุมชนรอบด้านมากขึ้น อันส่งผลต่อการทำความเข้าใจมิติการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนและชุมชน และการวางรากฐานการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในระดับฐานล่าง รวมถึงภาพรวมการพัฒนาในสังคมไทยอีกทางหนึ่งด้วย จึงได้เสนอจัดตั้งหน่วยวิจัยประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการพัฒนาขึ้น เพื่อศึกษาวิจัยให้ได้ชุดความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยชุมชนและการพัฒนาจากความเข้มแข็งจากฐานล่างที่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีจุดเริ่มต้นที่ชุมชนท้องถิ่น.