ภูมิทัศน์วัฒนธรรม
ปูยู
จากอิทธิพลของศาสนาอิสลามและความเป็นพื้นที่ชายแดน
มัสยิด :
ศาสนสถานของชุมชนมุสลิมผศ. ดร. นิสากร กล้าณรงค์
     มัสยิด เป็นศาสนสถานของชาวมุสลิม คำว่า มัสญิด เป็นคำภาษาอาหรับแปลว่า สถานที่กราบ ชาวมุสลิมในแต่ละชุมชนจะสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา อันได้แก่ การละหมาด และการวิงวอน การปลีกตนเพื่อบำเพ็ญตบะ หาความสันโดษ นอกจากนี้มัสยิดยังเป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอาน และศาสนา สถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น ชุมนุมพบปะ ประชุม เฉลิมฉลอง ทำบุญเลี้ยง สถานที่ทำพิธีนิกะฮ์ หรือพิธีแต่งงาน และสถานที่พักพิงของผู้สัญจรผู้ไร้ที่พำนัก
     มัสยิดของตำบลปูยู จะมีองค์ประกอบของมัสยิดที่คล้ายตลึงกีบมัสยิดที่อื่น ๆ โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
     1.โถงละหมาด เป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การละหมาด การศึกษาพระคัมภีร์ การรำลึกถึงพระเจ้า และการขอพร อาจมีการเปลี่ยนเพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น การเลี้ยงอาหาร และการประชุมหมู่บ้าน โถงละหมาดมักเป็นที่โล่งที่ได้รับการดูแลจนสะอาด สงบ เป็นสัดส่วน และไร้สิ่งรบกวนต่าง ๆ จะแบ่งพื้นที่สำหรับหญิงและชายอย่างเป็นสัดส่วน อิหม่ามจะยืนอยู่ด้านหน้าสุด เพื่อเป็นผู้นำละหมาด
     2. มิห์รอบ เป็นองค์ประกอบที่ใช้ระบุทิศกิบละฮ์ ในการละหมาดมุสลิมจะต้องหันหน้าไปยังทิศกิบละฮ์ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่มัสยิดอัลฮะรอมในมักกะฮ์ ดังนั้นภายในมัสยิดจึงมักมีซุ้มมิห์รอบสำหรับระบุทิศกิบละฮ์ด้านหน้าโถงละหมาด โดยทั่วไปมักเป็นซุ้มโค้งเว้าเข้าไปในผนังหรือเป็นผนังต่างระนาบที่ประดับลวดลายเป็นที่สังเกต
     3. มิมบัร หรือ แท่นแสดงธรรม เป็นที่ให้อิหม่ามหรือคอเต็บ (ผู้แสดงธรรม) ขึ้นกล่าวคุตบะฮ์ (แสดงธรรม) แจ้งข่าว หรือปราศรัยในโอกาสที่มีการละหมาดในวันศุกร์ มักเป็นแท่นยืนที่มีที่นั่งพักและบันไดขึ้น มีความสูงเพียงพอที่ให้คนอยู่ไกลมองเห็นและได้ยินทั่วถึง
     4. โถงอเนกประสงค์ มักเชื่อมต่อกับโถงละหมาด ทำหน้าที่รองรับผู้คนเข้าออกจากโถงละหมาด และรองรับการขยายตัวของกิจกรรมในโถงละหมาดในวันสำคัญเพราะจะมีศาสนิกมากเป็นพิเศษ รวมถึงใช้จัดกิจกรรมทางสังคมที่ไม่ขัดกับหลักศาสนา
     5. ที่อาบน้ำละหมาด ข้อบัญญัติของศาสนาอิสลามกำหนดให้มีการอาบน้ำละหมาด ซึ่งเป็นการทำความสะอาดร่างกาย เช่น มือ ใบหน้า แขน และ เท้า เป็นต้น ดังนั้นก่อนการละหมาดต้องมาอาบน้ำที่มัสยิดหรืออาจจะอาบน้ำมาจากที่อื่นก็ได้
     6. หออะซาน หรือ หอคอยประกาศเรียกละหมาด เป็นสถานที่ให้มุอัซซิน (ผู้ประกาศเวลาละหมาด) ขึ้นไปอะซาน (ประกาศ) ให้ได้ยินไปไกลที่สุดเพื่อเรียกให้ผู้คนทำละหมาดมารวมตัวกันที่มัสยิด ท่านศาสดาได้กำหนดให้ผู้ได้ยินเสียงอะซานมาละหมาดรวมกันที่มัสยิด ในอดีตจะให้การตีกลองบอกเวลาละหมาดเนื่องจากสามารถได้ยินในระยะไกล แม้หออะซานจะลดความสำคัญลงเนื่องจากมีการใช้เครื่องกระจายเสียงแทน แต่กระนั้นหออะซานก็ยังคงอยู่เป็นสัญลักษณ์ของมัสยิด ด้วยความสูงโดดเด่นเป็นภูมิสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการดำรงอยู่ของชุมชนมุสลิม
     7. ซุ้มประตู มัสยิดโดยทั่วไปจะมีการกำหนดขอบเขตหรือแยกพื้นที่สงบออกจากสิ่งรบกวน โดยอาจเป็นกำแพงหรือคูคลองโดยมีประตูเป็นตัวเชื่อมต่อที่บ่งบอกถึงการเข้าถึงมัสยิด ซุ้มประตูมักมีลักษณะเด่นมีการประดับประดาเช่นเดียวกับ โดม หรือหออะซาน
     มัสยิดแต่ละแห่งจะถูกสร้างให้มีความสวยงาม มักจะมีศิลปะอิสลามปรากฏ อาจจะมีลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายพรรณพฤกษา (Arabesque) ลายอักษรประดิษฐ์ (Calligraphy) ลายเรขาคณิต (Geometric form) และ ลายเรขศิลป์ ( Graphic form)
     ตำบลปูยู มีมัสยิด 3 แห่ง ซึ่งเป็นมัสยิดประจำหมู่บ้าน ได้แก่ มัสยิดหมู่ที่ 1 คือ มัสยิดอัลฆอยรียะห์
มัสยิดหมู่ที่ 2 คือ มัสยิดบ้านตันหยงกาโบย และ มัสยิดหมู่ที่ 3 คือ มัสยิดฮีดายาตุลอีมาน นอกจากนี้ยังมีมัดราซะห์ อีก 2 แห่ง คือ มัดราซะห์บ้านนา และ มัดราซะห์บ้านหัวแหลม
     มัสยิดในตำบลปูยู นอกจากเป็นศาสนสถานของชุมชนมุสลิมแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศมาเลเซีย ที่นับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน โดยการให้ความช่วยเหลือในการสร้างมัสยิด ซึ่งนายอุหมาก เตะปูยู อิหม่ามมัสยิดปูยู ของหมู่ที่ 3 เห็นว่ามัสยิดในหมู่ที่ 3 มีขนาดเล็กเกินไป และ แออัด เนื่องจากมีจำนวนประชากรเพิ่มจำนวนขึ้นมาก จึงมีความคิดที่จะหาแนวทางสร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้น เมื่อปีพ.ศ. 2549 นายอุหมาก เตะปูยู ได้ประชุมหารือกับชาวปูยู เรื่องการสร้างมัสยิดหลังใหม่ โดยมีแนวทางการขอบริจาคเงินจากชาวบ้านเป็นรายครัวเรือน จนกระทั่งได้เงินจำนวนหนึ่ง ในการจัดซื้อที่ดินเป็นจำนวน 4 ไร่ ปีพ.ศ. 2550 นายอุหมาก เตะปูยู และคณะทำงาน ได้หาแหล่งทุนเพื่อก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ และได้มีผู้ใจดีจากรัฐปะลิส ประเทศมาเลซีย บริจาคเงิน เป็น จำนวน 10 ล้านบาท ปีพ.ศ. 2551 เริ่มก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ โดยวิศวกรจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งสร้างเสร็จในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นมัสยิดที่มีขนาดใหญ่โตและสวยงามมาก ชาวปูยูมีความภูมิใจที่จะบอกว่ามัสยิดฮีดายาตุลอีมาน เป็นมัสยิดหลังหนึ่งที่ใหญ่โตและสวยงามมากในแถบอันดามัน
     ในชุมชนปูยู จะได้ยินเสียงเรียกละหมาดวันละ 5 เวลา และผู้คนในชุมชนมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามหลักของศาสนา ทุกบ่ายวันศุกร์ นอกจากจะเห็นผู้ชายมุสลิม แต่งกายสะอาด เรียบร้อยตามหลักศาสนา เดินทางไปมัสยิดเพื่อไปละหมาดญุมอะห์แล้ว หลังจากเสร็จการละหมาด เวลาประมาณบ่ายสองโมง จะมีผู้หญิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจะมาที่มัสยิด เพื่อฟังหลักศาสนาโดยมีอิหม่ามเป็นผู้สอน มัสยิดจึงเป็นสถานที่ที่มีการเรียนหลักศาสนาตั้งแต่เด็ก จนถึงวัยสูงอายุ ทั้งผู้หญิง และ ผู้ชาย
เอกสารอ้างอิง