ภูมิทัศน์วัฒนธรรม
ปูยู
จากอิทธิพลของศาสนาอิสลามและความเป็นพื้นที่ชายแดน
ตาดีกา :
การศึกษาศาสนาในวัยเด็กผศ. ดร. นิสากร กล้าณรงค์
     ศาสนาอิสลาม กำหนดหน้าที่สำคัญในการอบรมสั่งสอนบุตรหลานหรือผู้อยู่ในปกครองให้มีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตามหลักการศาสนาให้กับบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หากบิดามารดา หรือผู้ปกครองไม่มีความรู้ก็ต้องหาผู้ที่มีความรู้มาสอน ซึ่งส่วนใหญ่ในชุมชนมุสลิมจะมี “ตาดีกา” ซึ่งใช้พื้นที่และอาคารในบริเวณมัสยิดเป็นสถานที่เรียนรู้ โดย มีอิหม่ามหรือผู้มีความรู้ในท้องถิ่นทำหน้าที่สอน
     ตาดีกา (TADIKA) เป็นคำในภาษามลายู ย่อจากคำเต็มว่า Taman Didikan Kanak Kanak แปลว่า สถานที่สำหรับอบรมสั่งสอนเด็ก ๆ ตาดีกาเป็นสถาบันชั้นแรกสุดที่ได้ทำหน้าที่ปลูกฝังหลักคำสอนของศาสนาให้แก่เด็ก ๆ มุสลิม โดยทั่วไปจะใช้อาคารบริเวณมัสยิดเป็นสถานที่จัดการเรียนรู้ เรียกว่า ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ใช้เวลาในการจัดการเรียนการสอนตอนเย็นของวันจันทร์ถึงวันศุกร์ หรือวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตามความพร้อมของชุมชน ผู้สอนเป็นผู้นำศาสนาและอาสาสมัครในชุมชน ผู้เรียนเป็นนักเรียนที่เรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา มีอายุตั้งแต่ 6-12 ปี
     ในตำบลปูยูมีศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) จำนวน 3 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในมัสยิดของหมู่บ้าน ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในหมู่ที่ 2 บ้านตันหยงกาโบย ได้สร้างอยู่ริมชายคามัสยิด ในที่ดิน 2 ไร่ ที่ได้รับการบริจาคโดยชาวมาเลเซียเพื่อสร้างมัสยิด ซึ่งต่อมา นายยาหยา ปุนยัง อีหม่ามมัสยิดในขณะนั้น ได้ร่วมมือกับชาวบ้านหมู่ที่ 2 และ หมู่ที่ 3 สมทบทุนสร้างอาคารเรียน 1 อาคาร มี 4 ห้องเรียน โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนตาดีกาดารุลอีมาน และมัสยิดฮีดายาตุลอีมาน มัสยิดของ หมู่ที่ 3 บ้านปูยู ก็มีศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) เพื่อใช้เป็นที่เรียนหลักศาสนาของเด็กๆ
     ตาดีกามีการจัดการเรียนรู้ตามหลักศาสนาอิสลามของชุมชน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนศรัทธาต่ออัลลอฮฺ นำหลักคำสอนมาเป็นวิถีเเห่งการดำเนินชีวิต เด็ก ๆ ในตำบลปูยู ก็มีวิถีปฎิบัติเช่นเดียวกับเด็กมุสลิมอื่น ๆ ในจังหวัดสตูล รวมทั้งในจังหวัดปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ที่หลังจากเลิกเรียนจากโรงเรียน เด็ก ๆ จะอาบน้ำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าตามหลักศาสนา และจะถือสมุดและหนังสือเพื่อไปเรียนหลักศาสนาที่มัสยิด และ บ้านโต๊ะครู ในวันเสาร์ อาทิตย์ก็จะไปเรียนที่โรงเรียนตาดีกา
     ที่หมู่ 1 บ้านเกาะยาว ในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุด ในช่วงเช้า เด็กๆ จะยังไม่ไปวิ่งเล่น หรือปั่นจักรยาน แต่จะไปเรียนศาสนากับครู และโต๊ะอิหม่ามที่ มัสยิด เช่นเดียวกับเด็ก ๆ ในหมู่ที่ 2 บ้านตันหยงกาโบย และหมู่ที่ 3 บ้านปูยู ดังนั้น ถ้าเข้าไปยังชุมชนปูยู ภาพที่จะพบเห็นคือ เด็ก ๆ แต่งตัวตามหลักศาสนา เดินบ้าง ปั่นจักรยานบ้างเป็นกลุ่ม เพื่อมุ่งหน้าไปยังมัสยิด หรือ โรงเรียนตาดีกา ซึ่งเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่พบได้ในชุมชนมุสลิมเท่านั้น
     การเรียนการสอนที่โรงเรียนตาดิกา อาจมีความแตกต่างกันบ้าง เช่น จำนวนผู้เรียน ผู้สอน และ รายวิชาที่สอน วัน และ เวลาที่สอน ขึ้นอยู่กับบริบทความพร้อมของแต่ละหมู่บ้าน
     โรงเรียนตาดิกา ของหมู่ที่ 2 มีจำนวนเด็กทั้งหมด 140 คน มีผู้สอน จำนวน 8 คน สอนทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ถึง เวลา 16.00 น. สอนชั้น อนุบาล ถึง ชั้นปีที่ 6 ซึ่งเด็กที่เรียนมีตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ถึง 12 ขวบ วิชาที่สอน ได้แก่ อัล-กุรอาน อัล-ฮาดิษ หลักศรัทธา ศาสนาบัญญัติ ศาสนาประวัติ อัลลาค ภาษาอาหรับ มลายูยาวี และ มลายูรูมี ครูที่สอนมีค่าตอบแทน คนละ 2,250 บาทต่อเดือน และเด็กๆ ต้องเสียค่าใช้จ่าย เทอมละ 100 บาท
     โรงเรียนตาดิกา ของหมู่ที่ 3 บ้านปูยู ก็มีการเรียนการสอนไม่ได้แตกต่างจากโรงเรียนตาดิกา ของหมู่ที่ 2 โดย เด็กที่เรียนมีทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย มีอายุตั้ง 5 ขวบ ถึง อายุ 13 ปี จำนวน 60 คน มีอิหม่าม และ ครูที่มีความรู้ด้านศาสนาเป็นผู้สอน จำนวน 6 คน ซึ่งเป็นครูที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน มีทั้งที่เป็นครูของโรงเรียนสามัญ และ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา วันจันทร์ถึงวันศุกร์ก็สอนหนังสือที่โรงเรียน และใช้เวลาในวันหยุด คือ วันเสาร์มาสอนให้แก่เด็ก ๆ ที่โรงเรียนตาดิกา
     โรงเรียนตาดิกา ของหมู่ที่ 3 สอนเพียงวันเสาร์วันเดียว ตั้งแต่เวลา 07.30 -16.30 น. มีการสอนตั้งแต่ชั้นอิสลามปีที่ 1 ถึง ชั้นอิสลามปีที่ 6 รายวิชาที่สอน มี 9 วิชา ได้แก่ อัล-กุรอาน อัล-ฮะดิษ อัล-ฟิกซ์ อัล-อัคลาก อัตตารีค ภาษาอาหรับ ภาษามลายูอักษรยาวี ภาษามลายูอักษรรูมี และ ภาษามลายูอักษรรูมีเพื่อการสื่อสารเพิ่มเติม
     ครูที่สอน ได้แก่ครูสุรเชษฐ์ เต๊ะปูยู ครูยุบรัต ปุนยัง ครูปีเกอะ เต๊ะปูยู ครูไมซาเราะห์ ปุนยัง ครูอุหมก เต๊ะปูยู และครูบูหลัน ปุนยัง ครูที่สอนได้รับการสนับสนุนค่าตอบแทนจากสำนักงานการศึกษาเอกชน เป็นจำนวนเงินเดือนละ 3,000 บาท และ เด็ก ๆ ต้องเสียค่าหนังสือเรียน คนละ 300 บาทต่อปี
     นอกจากการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจและปฏิบัติตามหลักการศาสนาจากโรงเรียนตาดิกาแล้ว ทางมัสยิดยังมีการสอนอัลกุรอานให้กับเด็กหลังละหมาดมักริบทุกๆ คืน ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้ดำเนินชีวิตอยู่ในแนวทางของอิสลามที่ดี เพื่อรักษาวัฒนธรรมทางศาสนาในชุมชนให้ยังคงอยู่สืบไป
เอกสารอ้างอิง