ภูมิปัญญาชุมชน
ปูยู
เป็นความรู้ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมประสบการณ์ มายาวนาน และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต
พืชสมุนไพร :
ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านผศ.ดร. นิสากร กล้าณรงค์
     ป่าชายเลนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อชุมชน เป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบไม้ใช้สอยและก่อสร้างในครัวเรือน เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นที่หลบภัยและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่ง ป้องกันการพังทลายของชายฝั่งทะเล นอกจากนั้นพืชในป่าชายเลนยังเป็นแหล่งอาหาร และ พืชสมุนไพร สำหรับผู้คนที่อาศัยในบริเวณใกล้ป่าชายเลนนำมาเป็นอาหาร และใช้เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ และภูมิปัญญานี้ก็สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จากบรรพบุรุษสู่คนรุ่นหลัง
     ป่าชายเลน เป็นทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์นานัปการทั้งทางตรงและ ทางอ้อม ประชาชนในชุมชนปูยู ซึ่งเป็นชุมชนชายฝั่งได้นำพืชพรรณจากป่าชายเลนมาใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อการประกอบอาหาร และเป็นยารักษาโรค พืชหลายชนิดมีสรรพคุณที่สามารถเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ได้ คนในชุมชนจึงบริโภคพืชเพื่อเป็นอาหาร และให้ผลในการป้องกัน และ รักษาโรคต่าง ๆ ได้ สมุนไพรป่าชายเลนจึงเป็นผลผลิตจากธรรมชาติที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บมาเป็นเวลานาน
     ตำบลปูยู มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ มีน้ำทะเลล้อมรอบ ในอดีตการเดินทางติดต่อกับพื้นที่ภายนอกยังไม่สะดวก การเดินทางโดยเรือขึ้นกับน้ำขึ้นน้ำลง ช่วงเวลาที่น้ำแห้งก็ไม่สามารถเดินทางได้ ดังนั้นเมื่อเวลาเจ็บป่วยไม่สบายจึงต้องพึ่งพืชสมุนไพรป่าชายเลน สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนพบว่าในปูยูมีพืชในป่าชายเลนที่สามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้มากกว่า 41 ชนิด และการศึกษาของ นาตยา คงตุก พบว่าชาวบ้านปูยูมีการใช้สมุนไพรป่าชายเลนหลากหลาย เพื่อการรักษาโรค
     ในหมู่ที่ 1 บ้านเกาะยาว พืชสมุนไพรที่มีการใช้ประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ โพทะเล โดยนำรากมารับประทานเป็นยารักษาไข้ ช่วยขับปัสสาวะ และเป็นยาบำรุง เหงือกปลาหมอดอกม่วง เมล็ดรักษาฝี แก้โรคน้ำเหลืองเสีย ลำพู นำเปลือกมาใช้แก้โรคผิวหนัง แก้แผลเปื่อยผุพอง ลำแพน ใช้ดอกและยอดอ่อนต้มกับน้ำ ช่วยระบบขับถ่ายดีขึ้น และแสมดำ ใช้เปลือกตำให้ละเอียดอุดในฟันแก้ปวดฟัน
     พืชสมุนไพรที่ใช้มากในหมู่ที่ 2 บ้านตันหยงกาโบย คือ โกงกางใบใหญ่ โดยใช้เปลือกตำให้ละเอียดใช้ชะล้างแผล ห้ามเลือด เปลือกลำพู นำมาตำพอกแก้โรคผิวหนัง แก้แผลเปื่อยผุพอง ดอกและยอดอ่อนของลำแพนต้มน้ำ ดื่มแก้เมื่อย เข็ดตามข้อกระดูก และโกงกางใบเล็ก ใช้ใบต้มแก้โรคเบาหวาน ความดัน น้ำจากเปลือกใช้ชะล้างแผล ห้ามเลือด
     ในหมู่ที่ 3 บ้านปูยู พืชสมุนไพรที่มีการใช้ประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ ลำพู นำเปลือกมาตำ เพื่อพอกแก้โรคผิวหนัง แก้แผลเปื่อยพุพอง ดอกและยอดอ่อนของลำแพนต้มน้ำช่วยระบบขับถ่ายดี แก้เมื่อย เข็ดตามข้อ และ กระดูก และ ต้นจาก โดยใช้ดอกจากที่ยังไม่บาน นำมาต้มหรือขยี้ให้ละเอียด นำมาทาบริเวณปากที่แตก เป็นซาง และ แผลในปาก ลูกจากอ่อน นำมาต้มกับน้ำ ดื่มแก้โรคเบาหวาน ใบจากนำมาต้ม ดื่มแก้ท้องร่วง
     นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการรักษาโรคกับหมอพื้นบ้าน ซึ่งใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ซึ่งหมอพื้นบ้านในตำบลปูยู คือ นายมะแอ เต๊ะปูยู อยู่บ้านเลขที่ 124 หมู่ 2 บ้านตันหยงกาโบย เป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้สมุนไพรป่าชายเลนมาจากพ่อ เนื่องจากครอบครัวเป็นหมอประจำหมู่บ้านมาตั้งแต่อดีต โดยทั่วไปแล้วใช้สมุนไพรในการเจ็บไข้เบื้องต้น เมื่อก่อนจะใช้รากไม้ และมีการปลูกสมุนไพรไว้รอบบ้าน เพื่อความสะดวกในการใช้ นายมะแอ มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเกี่ยวกับเด็ก เช่น เป็นไข้ เป็นเดือน (โรคพยาธิ) ปวดท้อง เป็นต้น เมื่อนายมะแอเสียชีวิตได้มีการรับช่วงการเป็นหมอพื้นบ้านโดยลูกชาย คือ บังเวด เต๊ะปูยู และ บังหมาด เต๊ะปูยู ความรู้ของการเป็นหมอพื้นบ้านจะสืบทอดกันในตระกูล โดยถ่ายทอดให้ลูกชาย ตำรายาจะอยู่ในตัวของคนที่รับมา ตำรายาจะมีการเขียนและเก็บรักษาไว้อย่างดี โดยจะไม่เผยแพร่ให้คนอื่น นอกจากคนในตระกูลเท่านั้น
     หมอพื้นบ้านอีกครอบครัวหนึ่ง คือ นายเจ๊ะหมาด เต๊ะปูยู อยู่บ้านเลขที่ 60 หมู่ 2 บ้านตันหยงกาโบยซึ่งเป็นน้องชายของนายมะแอ เต๊ะปูยู ซึ่งได้เสียชีวิตแล้วเช่นกัน เมื่ออายุ 71 ปี โดยนางมาหลอด เต๊ะปูยู ภรรยาของนายเจ๊ะหมาด ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนายเจ๊ะหมาดจะใช้หม้อดินต้มยา นายเจ๊ะหมาดเริ่มเป็นหมอพื้นบ้านเมื่ออายุ 50 ปี สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคจะไปหามาจากบนเขาปูยู และ ป่าชายเลน ส่วนใหญ่จะใช้ราก นำมาต้มให้เดือด และให้คนที่ไม่สบายกิน ก็จะหาย
     ในหนังสือร้อยเรื่องราว...อ่าวตำมะลัง: วิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็ได้กล่าวถึง ผู้รู้ด้านการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรของตำบลปูยู คือ นายหมีน เต๊ะปูยู ซึ่งเป็นชาวปูยู มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และ โรคหอบ
     นอกจากการรักษาโรคด้วยสมุนไพรจากป่าชายเลนแล้ว ยังมีหมอรักษาโรค ที่ชาวบ้านเรียกว่า โต๊ะหมอ เมื่อชาวบ้านไม่สบายจะเอาดอกไม้เจ็ดสี หมาก พลู กับน้ำใส่ขันไปที่บ้านโต๊ะหมอ เมื่อรักษาหายแล้ว ผู้ที่หายจะเอาเกลือมาให้ 1 ถุง หรือ ไข่ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีการจ่ายเงิน แม้ว่าปัจจุบันจะมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพสต.) ในตำบลปูยู หรือชาวบ้านสามารถเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลในตัวเมืองสตูลได้สะดวกกว่าในอดีต แต่ชาวบ้านยังคงมีการรักษาด้วยหมอพื้นบ้านในบางโรค เช่น เด็กร้องไม่หยุด ก็จะเอาน้ำใส่ขันมาขอกับโต๊ะหมอ ถ้าหายอาจจะให้เงิน 50-70 บาท หรือไม่ให้ก็ได้ นอกจากเด็กเล็ก ผู้ที่มารักษากับโต๊ะหมอส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่มีอาการปวดหัว เป็นไข้ ก็เอาน้ำใส่ขันมา โต๊ะหมอจะอ่านใส่น้ำ(ท่องคาถา) แล้วให้กิน หรือลูบหน้า อย่างไรก็ตามภูมิปัญญาการรักษาโรคโดยโต๊ะหมอเริ่มจะลดน้อยลงตามความเจริญ และ การเคร่งครัดในหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม แต่ภูมิปัญญาการรักษาโรคด้วยสมุนไพรจากป่าชายเลนควรมีการส่งเสริมให้ประชาชนใช้มากขึ้นเพื่อการดูแล หรือรักษาตัวเองในชีวิตประจำวัน อาจจะเผยแพร่ความรู้เรื่องสมุนไพรในชุมชนให้มากขึ้น หรือมีแหล่งเรียนรู้ เกี่ยวกับสมุนไพรป่าชายเลนของชุมชน
เอกสารอ้างอิง