ภูมิปัญญาชุมชน
ปูยู
เป็นความรู้ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมประสบการณ์ มายาวนาน และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต
กาหมาด :
ภูมิปัญญาการรักษาโรคดร. วราภรณ์ ทนงค์ศักดิ์
     ปลิงทะเล (Sea cucumber) เป็นสัตว์ทะเลจำพวกปลา เป็นสัตว์ทะเลไร้กระดูกสันหลังจัดอยู่ใน Phylum Echinoderma จำพวกเดียวกับปลาดาว และหอยเม่นทะเล รูปร่างลักษณะทรงกระบอก ยาวคล้ายถุง ลำตัวอ่อนนุ่มยืดหดตัวได้ มีปากและช่องขับถ่ายอยู่ที่ปลายส่วนหัวและหาง รอบๆ ปากมีหนวด (tentacles) มีลักษณะเป็นช่อสำหรับจับอาหาร ผิวตัวของปลิงทะเลอาจจะนุ่ม มีลักษณะบางโปร่งแสง หรือหนาทึบแสง บางชนิดผิวเรียบ แต่ปกติมักจะมีปุ่มยื่นออกมาคล้ายหูด มีขนาดรูปร่างและสีสันแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด พวกมันจะฝังตัวขุดรูอยู่ในโคลน ทราย หรืออาศัยอยู่ตามกอสาหร่ายทะเล ปะการัง ตามพื้นทะเลที่เป็นทรายปนโคลน มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศ เพราะปลิงทะเลเป็นตัวย่อยสลายพวกสารอินทรีย์ในตะกอนและปล่อยสารอาหารคืนสู่ห่วงโซ่อาหาร
     ปลิงทะเลพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ในเมืองไทยพบว่ามีปลิงทะเลอยู่ 76 ชนิด แต่ที่นิยมรับประทานมีอยู่ 6 ชนิดคือ Holothuria scabra, H. argus H. marmorata H. spinifera H. arta และ Stichopus variegates
     ในตำบลปูยู ปลิงทะเล ถูกเรียกอีกชื่อว่า กาหมาด ซึ่งเป็นภาษามลายู โดยกาหมาดจะพบในเขตเกาะยาว เกาะสาม จังหวัดสตูล และแถบเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย คนปูยูนิยมหากาหมาดในช่วงแรม 1-3 ค่ำ ช่วงน้ำลดบริเวณหาดที่มีหิน กาหมาดจะเกาะอยู่ข้างๆ โขดหิน สังเกตได้จากการพ่นน้ำของกาหมาด ในเนื้อของกาหมาด มีมิวโคโปรตีน (Mucoprotein) ปริมาณสูง ซึ่งมิวโคโปรตีนนั้นมีคอนดรอยติน ซัลฟุริค แอซิด (Chondroitin-sulfuric acid) อยู่เป็นองค์หลัก ซึ่งทำหน้าที่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ โดยทางการแพทย์พื้นบ้านของชาวจีนใช้ปลิงทะเลในการรักษาอาการอ่อนเพลีย เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความชรา ท้องผูกเนื่องจากลำไส้มีความแห้ง ปัสสาวะบ่อย ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อ และช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อ ในปูยูเองมีการสืบทอดสรรพคุณของกาหมาด โดยชาวบ้านหมู่ที่ 1 บ้านเกาะยาว ใช้กาหมาดในการรักษาโรคต่างๆ มาหลายชั่วอายุคน โดยนายดารุ้ย ริหมัด เป็นคนทำกาหมาดคนแรกของหมู่บ้าน และได้ถ่ายทอดให้ลูกหลานรับช่วงต่อ ปัจจุบันในปูยูมีคนทำกาหมาด คือ นางเจ๊ะมี ริหมัด นางบุหงา ริหมัด นางจิรา หัตการบัญชา และนางนอรามี เต๊ะปูยู กล่าวคือ
     1) นางเจ๊ะมี ริหมัด
เริ่มทำกาหมาด มามากกว่า 8 ปี โดยได้สูตรมาจากพี่ชาย ซึ่งก็คือ นายดารุ้ย ริหมัด การแปรรูป
ของก๊ะเจ๊ะมี มีหลากหลายทั้งแบบยาเม็ดหรือลูกกลอน แบบน้ำมัน แบบผง และแบบเป็นตัว การจำหน่าย วางขายในร้านค้าฉลุง และส่งต่อผ่านญาตินำไปขายสามจังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส) เพื่อนำไปขายต่อในประเทศมาเลเซีย
     2) นางบุหงา ริหมัด
ก๊ะบุหงา เริ่มทำกาหมาด โดยได้สูตรมาจากนางเจ๊ะมี ริหมัด ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง การบรรจุกาหมาด
ของก๊ะบุหงา จะบรรจุในแคปซูล เนื่องจากแบบแคปซูลทานง่าย ไม่มีกลิ่นของกาหมาดขณะทาน ส่วนการจำหน่าย ก๊ะบุหงาวางขายในตลาด และมีความคิดที่อยากจะแปรรูปกาหมาดเป็นยาหม่อง เพื่อเพิ่มมูลค่ากาหมาด
     3) นางจิรา หัตการบัญชา
แปรรูปกาหมาดมามากกว่า 10 ปี เป็นภรรยาของนายดารุ้ย ริหมัด การแปรรูปกาหมาดของก๊ะจิรา มี
3 แบบ คือ แบบยาเม็ดหรือลูกกลอน แบบน้ำมัน และแบบผง และทำตามแบบฉบับที่ได้รับการถ่ายทอดมา
     4) นางนอรามี เต๊ะปู
เริ่มทำกาหมาดหลังสุด ในจำนวน 4 คน จากการสอนของนายดารุ้ย ริหมัด ซึ่งการแปรรูปกาหมาด
ของนางนอรามี มี 3 แบบ คือ แบบยาเม็ดหรือลูกกลอน แบบน้ำมัน และแบบผง แต่มีความต่างจาก 3 คน ในการบรรจุภัณฑ์ โดยบรรจุในขวดพลาสติกแบบเดียวกับที่ใช้บรรจุยาขนาดเล็ก และจะทำตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ ไม่ได้วางขายตามร้านแต่อย่างใด
     ทั้ง 4 คน ต่างมีรูปแบบการแปรรูปกาหมาดที่เหมือนกัน นั้นคือ แบบยาเม็ดหรือลูกกลอน แบบน้ำมัน
และแบบผง ยกเว้นนางเจ๊ะมี ริหมัด จำหน่ายการหมาดแบบเป็นตัว ซึ่งวิธีการแปรรูปกาหมาดหรือปลิงทะเล เป็นยารักษาโรค ทั้งแบบยาเม็ดหรือลูกกลอน แบบน้ำมัน และแบบผง มีขั้นตอนวิธีการ ดังนี้
     วิธีที่ 1 แบบยาเม็ด หรือลูกกลอน
นำกาหมาดสด ผ่าไส้ออก ล้างให้สะอาด แล้วนำมาต้มให้สุกประมาณ10-15 นาที จากนั้นนำมาวาง
สะเด็ดน้ำให้แห้งสนิท และนำไปตากแดดประมาณ 3 วัน ควรตากแดดให้แห้งสนิท หากไม่แห้งเนื้อกาหมาดจะเหนียว จากนั้นตัดกาหมาดออกเป็นท่อนๆ แล้วนำไปคั่วให้กรอบ และนำมาตำให้ละเอียด เข้าเครื่องบด บดให้เป็นผงแล้วกรองผสมเข้ากับน้ำผึ้งรวง เพื่อปั้นเป็นยาลูกกลอน และนำไปตากแห้งอีกครั้งหนึ่งประมาณ 2 วันเมื่อแห้งสนิทบรรจุลงในขวดบรรจุภัณฑ์
สรรพคุณของยาเม็ด หรือลูกกลอน
เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก หอบหืด แผลในร่างกาย ปวดเมื่อยตามร่างกาย รักษาแผลหลังผ่าตัด ปวดนิ่ว มดลูกเข้าอู่เร็ว ไตอักเสบ ช้ำใน แก้ไอ วัณโรค ปวดเอว หัวใจรั่ว และตกขาว
     วิธีที่ 2 แบบน้ำมัน
นำกาหมาดสด ผ่าไส้ออก ล้างให้สะอาด แล้วนำมาต้มให้สุก จากนั้นนำมาวางสะเด็ดน้ำให้แห้งสนิท และนำไปตากแดดประมาณ 3 วัน ควรตากแดดให้แห้งสนิท หากไม่แห้งเนื้อกาหมาดจะเหนียว จากนั้นตัด กาหมาดออกเป็นท่อนๆ แล้วนำไปคั่วให้กรอบ จากนั้นนำมาตำให้ละเอียดแล้วเข้าเครื่องบดให้เป็นผง ตั้งน้ำมันในหม้อให้เดือด (ใช้น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันพืชก็ได้) แล้วเทผงกาหมาดลงไปในน้ำมันคนให้เข้ากันทิ้งไว้ให้เดือด 30 นาที ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำไปบรรจุในขวดบรรจุภัณฑ์
สรรพคุณแบบน้ำมัน
ใช้ทาแผลสด น้ำร้อนลวก แผลไฟไหม้ กลากเกลื้อน ทาถูนวด แก้ปวดท้อง ส้นเท้าแตก และเชื้อราบนหนังศีรษะ
     วิธีที่ 3 แบบผง
นำกาหมาดสด ผ่าไส้ออก ล้างให้สะอาด แล้วนำมาต้มให้สุก จากนั้นนำมาวางสะเด็ดน้ำให้แห้งสนิท
และนำไปตากแดดประมาณ 3 วัน ควรตากแดดให้แห้งสนิท หากไม่แห้งเนื้อกาหมาดจะเหนียว จากนั้นตัด กาหมาดออกเป็นท่อนๆ แล้วนำไปคั่วให้กรอบ จากนั้นนำมาตำให้ละเอียดแล้วเข้าเครื่องบดให้เป็นผง เมื่อเป็นผงนำมาบดซ้ำอีกครั้งให้ละเอียด แล้วจึงนำมาบรรจุในขวดบรรจุภัณฑ์
สรรพคุณแบบผง
แก้แผลของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานโดยโรยผงกาหมาดเฉพาะแผลภายนอก ใช้ทาแผล และทาแก้สิวโดยผสมน้ำแล้วแปะลงไปบนแผล หรือสิว
     ราคาจำหน่ายกาหมาด
กาหมาดแต่ละแบบจะมีราคาแตกต่างกันไป
1) แบบลูกกลอน กระปุกละ 30 เม็ด ราคา 100 บาท
2) แบบน้ำมัน ขวดละ 50 บาท
3) แบบผง ราคากระปุกละ 100 บาท
4) แบบตัวแห้ง แพคละ 4 ตัว ราคา 100 บาท และ
5) แบบแคปซูล กระปุกละ 40 แคปซูล ราคา 100 บาท
     เมื่อทราบสรรพคุณทางยารักษาโรคของปลิงทะเลหรือกาหมาดแล้ว กาหมาดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ควรคู่กับความหมายของตัวเอง ซึ่ง “กาหมาด แปลว่า ศักดิ์สิทธิ์” เพราะสามารถรักษาโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะกาหมาดแบบน้ำมันที่ใช้ใส่แผดสด ชาวบ้านที่เกาะยาวจะมีติดบ้านกันเกือบทุกครัวเรือน และในเรือ เมื่อเกิดบาดแผลจากมีดบาด หรือถูกของมีคม การหกล้มของเด็ก ๆ หรือจากเครื่องมือประมง ก็สามารถห้ามเลือด และ สมานแผลได้เป็นอย่างดี
เอกสารอ้างอิง