ภูมิปัญญาชุมชน
ปูยู
เป็นความรู้ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมประสบการณ์ มายาวนาน และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต
สวนสมรมบนควนบ่อน้ำ :
ภูมิปัญญาการปลูกพืช/ผลไม้ผศ.ดร. นิสากร กล้าณรงค์
     สวนสมรม เป็นภาษาถิ่นของภาคใต้ คำว่า “สมรม” แปลว่า “รวมผสมผสาน” ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการอย่างหนึ่งเกี่ยวกันการปลูกต้นไม้ สวนสมรม จึงเป็นสวนผลไม้แบบผสมผสาน หมายถึง สวนขนาดเล็ก
ที่ปลูกผสมปนเปกันของผลไม้นานาชนิด ไม่มีการแยกแปลงแยกชนิด ไม่ทำลายพืชดั้งเดิมที่มีอยู่ ทำให้พืชได้พึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกันเองตามธรรมชาติ นับเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง เพราะผลไม้แต่ละชนิดออกผลผลิตไม่พร้อมกัน ทำให้มีผลผลิตได้ทั้งปี ในสวนสมรมจะมีผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ทุเรียน มังคุด ลางสาด จำปาดะ หมาก สะตอ ลูกเนียง และอื่น ๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชุมชนที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เช่น ใกล้แหล่งน้ำ ลำธาร ติดต่อกับแนวเทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่าที่สมบูรณ์
     ลักษณะเด่นของสวนสมรม คือ การปลูกพืชหลายๆ ชนิดในแปลงเดียวกัน อันประกอบด้วยความต่างระดับของเรือนยอด ดังนี้
     เรือนยอดระดับบนสุด คือ เหรียง หยี
     เรือนยอดระดับที่ 2 คือ ทุเรียนพื้นบ้าน สะตอ หมาก ยางพาราพื้นเมือง
     เรือนยอดระดับที่ 3 คือ เนียง ลางสาด มังคุด ลองกอง จำปะดะ มะปริง มะมุด ส้มแขก มะพร้าว
     เรือนยอดระดับที่ 4 คือ กล้วย คลุ้ม ผักเหมียง ระกำ มะกรูด
     เรือนยอดระดับที่ 5 คือ พืชประเภทผักสวนครัว ได้แก่ ผักหวาน พริก มะเขือ ตะไคร้ กาหลา ข่า ขมิ้น
     เรือนยอดระดับที่ 6 คือ พืชประเภทสมุนไพร และผักพื้นบ้าน คือ ผักหวานป่า ชะพลู
     ชาวปูยูมีการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกที่ ควนบ่อน้ำ หรือ เขาปูยู ซึ่งเป็นเชิงเขาที่กั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย สาเหตุที่ชาวบ้านมีการตั้งถิ่นฐานที่ควนบ่อน้ำ เนื่องจาก ควนบ่อน้ำเป็นควนที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีแหล่งน้ำจืดซึมไหลจากใต้ดินกระจายอยู่ทั่วไป และไหลมารวมกันเป็นแอ่งน้ำ สำหรับเป็นแหล่งน้ำใช้ และ น้ำกิน ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐาน
     ระยะแรกที่บรรพบุรุษของชาวปูยูเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่ควนบ่อน้ำ มีวิธีทำสวนผลไม้โดยใช้
วิธีการถางป่าปลูกไม้ผลโดยไม่โค่นไม้ใหญ่ ซึ่งจะปล่อยให้แก่ตายเอง หรือปลูกไม้ผลบนพื้นที่ที่ต้นไม้เดิม
ได้หมดอายุหรือล้มตายลง หรือปลูกไม้ผลแทรกลงไปบริเวณป่าที่เห็นว่าเหมาะสม โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็น
ที่ที่มีความลาดชันไม่มากจนเกินไป มีหน้าดินลึกพอสมควร ลักษณะการปลูกจะไม่เป็นแถวเป็นแนว และอาศัยน้ำจากภูเขา ไม้ผลหลายชนิดก็เป็นไม้พื้นเมืองที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อชาวบ้านเข้าไปยึดครองพื้นที่ถางป่าก็จะเว้นไม้เหล่านี้ไว้ และปลูกไม้ผลอื่นๆ ขึ้นแซมด้วย พืชที่ปลูกในลักษณะนี้จะปลูกคละปะปนกันไป โดยไม่มีการถางพื้นที่ให้กว้าง ชนิดพันธุ์พืชที่นิยมปลูกได้แก่ ทุเรียน ขนุน เงาะ มังคุด ละมุด ลองกอง หมาก สะตอ กล้วย เป็นต้น และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปีในลักษณะหมุนเวียนกันไป วิธีการนี้ได้สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านปูยูส่วนใหญ่ยังคงปลูกผลไม้เหมือนดั่งบรรพบุรุษ มีบางส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยปลูกยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน
     ไม้ผลที่แสดงให้เห็นการตั้งถิ่นฐาน และ ทำสวนสมรมมายาวนานของชาวปูยู กว่า 3 ชั่วอายุคน คือ ต้นทุเรียนที่มีอายุ 200 กว่าปี ซึ่งเป็นต้นทุเรียนบ้านที่มีขนาดลำต้นใหญ่ และสูงมาก ซึ่งบรรพบุรุษของชาวปูยูได้ปลูกไว้เพื่อเป็นแหล่งอาหารระหว่างซ่อนตัวอยู่ที่ควนบ่อน้ำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
     บริเวณควนบ่อน้ำ เดิมมีชาวมาเลเซียมาบุกเบิกปลูกไม้ผล ภายหลังมีการปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยามใน ปี พ.ศ. 2452 มีการกำหนดพรมแดนที่ชัดเจน ทำให้ชาวมาเลเซียที่ทำกินที่ควนบ่อน้ำ และเลือกที่อยู่อาศัยภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทิ้งสวน และยกที่ดินให้กับพี่น้องที่เป็นคนไทยบนควนบ่อน้ำ ชาวบ้านจากปูยูจะสร้างบ้านพักไว้ที่ควนบ่อน้ำ เพื่อมาดูแลผลไม้ และ ยางพารา แต่จะมาพักชั่วคราว ครั้งละ 3-4 วัน ก็จะกลับไปยังปูยู มีครัวเรือนที่ตั้งถิ่นฐานถาวรบนควนบ่อน้ำเพียง 3 ครัวเรือน ซึ่งยังทำสวนสมรมเช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษได้ทำไว้ ผลไม้ที่ปลูกได้แก่ ทุเรียน ขนุน ลองกอง ละมุด และ ผักสวนครัวที่ปลูกไว้กินรอบ ๆ บ้าน และมีการทำสวนยางพารา และ สวนกล้วย
     ในอดีตหลังจากการปักปันเขตแดนแล้ว ยังคงมีการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างชาวปูยู กับชาวมาเลเซีย ในรัฐปะลิส เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกัน ปูยูมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางทะเล จึงนำอาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง กั้ง และกะปิ มาแลก ข้าวสารของคนปะลิส เพราะรัฐปะลิสมีพื้นที่ทำนา เป็นอู่ข้าวของประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันยังมีร่องรอย บริเวณที่แลกเปลี่ยนสิ่งของกัน ซึ่งกลายเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่หยุดนิ่งไปแล้ว บริเวณข้างหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ทบ. 7 (ควนบ่อน้ำ) รวมทั้งเส้นทางเดินเท้าที่อดีตเคยเป็นเส้นทางติดต่อระหว่างควนบ่อน้ำกับรัฐปะลิส ซึ่งมีร่องรอยเส้นทางเดินเท้า ผ่านสวนยาง และ ช่องเขา ไปสิ้นสุดบริเวณหลักกิโลที่ 4 และจากหลักกิโลที่ 4 ในเขตรัฐปะลิสเองก็มีเส้นทางเดินเท้าเป็นดินลูกรัง ไปยังหมู่บ้านในพื้นที่ราบเช่นกัน
     ควนบ่อน้ำมีสวนสมรมที่อายุกว่า 200 ปี ที่เป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่ยังเคลื่อนไหว เป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นการดำรงชีวิตของชาวปูยูที่มีพัฒนาการตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม การปกครอง และ เศรษฐกิจ ที่น่าไปเยือนสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาภูมิทัศน์วัฒนธรรม และนักท่องเที่ยวทั่วไป
เอกสารอ้างอิง