ภูมิปัญญาชุมชน
ปูยู
เป็นความรู้ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมประสบการณ์ มายาวนาน และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต
เครื่องมือประมงพื้นบ้าน :
ภูมิปัญญาการประกอบอาชีพผศ. ศุภรัตน์ พิณสุวรรณ
     เครื่องมือประมงพื้นบ้าน หมายถึง เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ชาวประมงพื้นบ้านคิดขึ้นเอง มีลักษณะเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนหรืออาจจะเป็นเครื่องมือที่ซื้อมาจากตลาดที่นำมาใช้ทำประมงตามชายฝั่ง ไม่นิยมออกจับสัตว์น้ำที่ไกลออกไปจากชายฝั่งทะเลที่เป็นทะเลลึก ดังนั้น รูปแบบ วิธี และการใช้เครื่องมือของชาวประมงพื้นบ้านถูกกำหนดโดยสภาพหรือลักษณะของสัตว์น้ำและชายฝั่งทะเลในแต่ละพื้นที่ ชาวประมงพื้นบ้านต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับสัตว์น้ำ การสังเกตธรรมชาติ ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศหรือสภาพพื้นที่ คลื่น ลมฟ้าอากาศและธรรมชาติของท้องทะเล เช่น การขึ้น-ลงของน้ำ มีผลต่อปริมาณของสัตว์น้ำ เช่น น้ำเกิดหรือน้ำใหญ่ เป็นปรากฏการณ์ที่น้ำเริ่มสูง หรือไหลแรง และมีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ส่วนน้ำตาย คือ น้ำนิ่งที่มีสภาวะขึ้นน้อย ลงน้อย น้ำที่ไหลไม่ค่อยแรง ทรงตัว การออกแบบเครื่องมือประมงต่าง ๆ ต้องให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำ ดังนั้น ชาวประมงพื้นบ้านในแต่ละชุมชนจะเลือกใช้เครื่องมือประมงหลากหลายชนิด แต่ละบ้านอาจมีทั้ง อวน ลอบ ไซ หยอง เพราะชาวประมงต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการใช้เครื่องมือไปตามฤดูกาล สภาพพื้นที่ และธรรมชาติของสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้เรียนรู้ และ ถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ทั้งการทำเครื่องมือจับสัตว์น้ำ แหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ และ วิธีการจับสัตว์น้ำแต่ละประเภท
     เครื่องมือประมงพื้นบ้านในตำบลปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
     ประเภทเครื่องมือประมงพื้นบ้านในตําบลปูยู อําเภอเมือง จังหวัดสตูล สามารถจำแนกได้ 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) ลอบ ซึ่งมีทั้งลอบปู ลอบปลากะพง ปลาเก๋า และ หยอง 2) เบ็ด ซึ่งเป็นเบ็ดราว และ 3) อวน ซึ่งมีทั้งอวนกุ้ง อวนปู และ อวนปลา
     เครื่องมือประมงพื้นบ้านในตําบลปูยู อําเภอเมือง จังหวัดสตูล อธิบายโดยแยกประเภทเครื่องมือประมงและวิธีการใช้ในการจับสัตว์ของแต่ละประเภทเครื่องมือ ได้ดังนี้
     1. ประเภทลอบ
          1.1 ลอบปู ลอบปูแบบพับได้ เป็นลอบแบบใหม่ ลักษณะโครงลอบทําด้วยเหล็กเส้น เป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 30 - 40 เซนติเมตร ยาว 50 - 60 เซนติเมตร สูง 20 - 25 เซนติเมตร ลอบชนิดนี้เปิดออกที่กึ่งกลางด้านบนแล้วพับให้แบนได้ เหยื่อที่ใช้เป็นปลาสด ใช้ลวดร้อย แขวนไว้กึ่งกลางลอบ
สัตว์น้ำที่จับได้ด้วยเครื่องมือลอบปู ได้แก่ ปูม้า ปูดำ กั้ง ปลากะรังขนาดเล็ก
          วิธีการใช้เครื่องมือลอบปู
ลอบปูใช้จับปูทะเลเป็นส่วนใหญ่ จะอยู่ในคลองหรือบริเวณชายฝั่ง ลอบปูแบบพับได้มีการวาง 2 แบบ คือ ในบริเวณน้ำลึกไม่เกิน 10 เมตร นิยมวางเดี่ยวเป็นอิสระแยกจากกัน วิธีนี้ต้องมีสายทุ่น และ ทุ่นลอยบอกตําแหน่งลอบ ถ้าวางในคลอง ส่วนใหญ่จะวางห่างกันประมาณ 10 - 15 เมตร แต่ถ้าวางในทะเล ส่วนใหญ่จะวางห่างกัน 20 - 40 เมตร อีกวิธีหนึ่งคือวางเป็นราวโดยแบ่งเป็นชุด ๆ ละ 50 ลูก แต่ ละชุด จะมีทุ่นบอกตําแหน่งแนวลอบใต้น้ำ ลอบแต่ละลูกห่างกัน 15 - 20 เมตร ในระดับน้ำลึกประมาณ 15 เมตร เวลาวางลอบจะวางในช่วงเช้ามืด และปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง จึงจะกู้ลอบ บางราย วางตอนเย็นและปล่อยทิ้งไว้ทั้งคืน จึงจะกู้ลอบในตอนเช้า
          1.2 ลอบปลากะรัง (เก๋า) ลอบปลากะรัง เป็นลอบปลาขนาดเล็กที่ต้องมีเหยื่อล่อใช้จับลูกปลากะรัง จะอยู่ตามบริเวณชายฝั่ง ลอบจะทําเป็นโครงรูปกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดตา 20 - 30 มิลลิเมตร และใช้ก้อนอิฐหรือก้อนหินถ่วงด้านข้างลอบทั้งสองข้าง ข้างละ 1 ก้อน ด้านบนมีเชือกสายทุ่นขนาด 5 มิลลิเมตร ผูกติดกับลอบและทุ่นลอย เพื่อบอกตําแหน่งลอบ สัตว์น้ำที่จับได้ด้วยเครื่องมือลอบลูกปลากะรัง (เก๋า) ได้แก่ ลูกปลากะรัง ปูทะเล
          วิธีการใช้เครื่องมือลอบลูกปลากะรัง (เก๋า)
ลอบลูกปลากะรัง จะวางลอบในบริเวณชายฝั่ง ระดับความลึกของน้ำประมาณ 2 - 5 เมตร ส่วนใหญ่วางเป็นแถวหรือวางบริเวณใกล้ชายฝั่ง ถ้าวางเป็นแถว แถวละ 30 - 50 ลูก แต่ละลูกห่างกันประมาณ 20 เมตร โดยมีทุ่นบอกตําแหน่งลอบที่ผิวน้ำ ชาวประมงออกเรือในเวลา 6 โมงเช้า ปล่อยลอบทิ้งไว้ทั้งคืน และไปกู้ลอบในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น
          1.3 หยอง
หยองเป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ชาวบ้านตําบลปูยูนิยมใช้กันมาก มีลักษณะเป็นโครงเหล็ก รูปวงกลม 2 วงวางขนานกันใช้อวนตาถี่ผูกคลุมติดอยู่กับโครงเหล็กทั้ง 2 วง มีลักษณะคล้ายกับทรงกระบอกแล้วเจาะทําช่องเป็นรูพอประมาณเพื่อเป็นทางให้สัตว์น้ำสามารถลอดผ่านเข้าไปในหยองได้ และใช้ไม้ปักไว้ตรงกลางหยองแล้วใส่เหยื่อ เมื่อสัตว์น้ำเข้าไปกินเหยื่อในหยอง ประตูทางเข้าจะปิดทำให้ไม่สามารถกลับออกไปได้
สัตว์น้ำที่จับได้ด้วยเครื่องมือหยองส่วนใหญ่ คือ ปูม้า ปูลายเสือ ปูดํา กั้ง
          วิธีการใช้เครื่องมือหยอง
ชาวประมงพื้นบ้านสามารถใช้หยองทุกฤดูกาล ยกเว้นช่วงมรสุมไม่สามารถออกทะเลได้ ช่วงเวลาน้ำใส จึงออกไปวางหยองในทะเล ครั้งละประมาณ 100 - 150 ชุด โดยมีการเตรียมเหยื่อเนื้อปลาเพื่อล่อปู ล่อกั้ง ให้เข้ามาในหยอง
          วิธีการวางหยองมี 2 วิธีคือ
          วิธีที่ 1 จะวางหยองเป็นราวบริเวณชายฝั่ง โดยใช้ไม้สั้น จะวางหยองขนานไปกับชายฝั่ง จํานวน 2 แถว แถวละ 1 ราว ในระดับความลึกแล้วแต่ฤดูกาลหรือช่วงเวลา ราวหนึ่งจะมีประมาณ 30 - 50 ลูก แต่ละลูกมีระยะห่างประมาณ 7 - 10 วา จะใช้หยองจํานวน 2 ราว ในช่วงน้ำใสมาก ๆ จะวางหยองในเขตน้ำลึก ในช่วงน้ำขุ่นจะวางหยองในเขตน้ำตื้น
          วิธีที่ 2 จะวางหยองในทะเล จะใช้ไม้ยาว จะจัดวางเป็นแถว ๆ ละ 50 -70 ลูก มีระยะห่างต่อ ลูกประมาณ 10 วา โดยมีธงเป็นสัญลักษณ์หัว - ท้ายของแต่ละแถว จะวางหยองทั้งหมด 2 แถว การวางหยองจะวิ่งเรือออกไปในช่วงเช้าประมาณ 6 โมงเช้า เมื่อวางหยองเสร็จแล้วจะกลับมาหมู่บ้าน วันรุ่งขึ้นช่วงเช้ามืดก็จะวิ่งเรือไปถึงธงที่เป็นสัญลักษณ์ของตนเองแล้วจัดการกู้หยองขึ้นมาแล้วเทปูใส่ตะกร้า ใส่เหยื่อใหม่เข้าไป และวางในจุดใกล้เคียงกับจุดเดิม ทําลักษณะนี้ทุกหยองจนเสร็จ ก็จะไปกู้หยองอีกแถวหนึ่งหรืออีกราวหนึ่งจนหมดก็กลับบ้าน วันรุ่งขึ้นก็ไปกู้ใหม่จะปฏิบัติซ้ำ ๆ อย่างนี้ทุกวัน ยกเว้นช่วงที่คลื่นลมแรงจะไม่สามารถออกเรือได้
     2. ประเภทเบ็ด
          2.1 เบ็ดราวปลากระเบน
เบ็ดราวปลากระเบนเป็นเครื่องมือเบ็ดที่มีเบ็ดหลายตัวใน 1 ชุด โดยมีสายคร่าวยาวประมาณ 200 วา มีตาเบ็ดจำนวน 100 ตา เป็นชนิดที่เกี่ยวเหยื่อ แต่จะใช้เหยื่อที่สด ระยะของสายเบ็ดจึงมี 20 - 50 เซนติเมตร
สัตว์น้ำที่จับได้จากเครื่องมือเบ็ดราวปลากระเบน เป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่ เช่น ปลากระเบนทราย
          วิธีการใช้เครื่องมือเบ็ดราวปลากระเบน
ชาวประมงพื้นบ้าน จะสาวเบ็ดราวลงตะกร้า ตะกร้าละ1 หัว เพื่อไม่ให้เบ็ดราวพันกัน เรือลำหนึ่ง จะใช้เบ็ดราวจำนวน 3 - 5 หัว หัวหนึ่งจะมีตาเบ็ดจำนวน 100 ตา มีความยาว 200 วา เหยื่อที่ใช้จะต้องเป็นเหยื่อสด เช่น ปลา หมึก เป็นต้น วางในระดับน้ำลึก 4 - 20 เมตร ในแต่ละหัวของเบ็ดราวใช้ธงเป็นสัญลักษณ์หัว-ท้าย จะวางเป็นราวในช่วงเย็นบริเวณใกล้ฝั่ง จะต่อสายเป็นราวแต่ละชุด แล้วปล่อยสายทุ่นเพื่อถ่วงน้ำหนัก ใช้วิธีการยื่นไม้เก็บเบ็ดราวให้พ้นกาบเรือในแนวตั้งฉากแล้วเเล่นเรือไปข้างหน้า ตัวเบ็ดราวจะหลุดจากไม้เก็บเบ็ดราวไปเรื่อย ๆ ปล่อยเบ็ดราวไว้จนเช้าจึงกู้และเก็บไม้ราวเข้าตามเดิม การวางเบ็ดราวจะวางเพียงแถวเดียวในทิศทางขนานหรือตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง เบ็ดราวที่วางไว้จะอยู่เรี่ยกับพื้นทะเล ความคมของตัวเบ็ดราวจะเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ว่ายผ่านระหว่างตัวเบ็ดราว
     3. ประเภทอวน
          3.1 อวนจมปู
อวนจมปู เป็นลักษณะอวนไนลอน สีฟ้า หรือเป็นเส้นเอ็นใส ๆ เวลาอยู่ในน้ำแทบจะมองไม่เห็น มีการใช้ลูกตะกั่วไว้ด้านล่างของพื้นอวน เพื่อถ่วงอวนด้านล่างให้ตกสู่พื้นดิน ส่วนอวนด้านบนจะใส่ลูกทุ่นเพื่อให้อวนด้านบนลอยเพื่อให้มองเห็นอยู่ในทะเล ความยาวของพื้นอวนแต่ละปาก ไม่มีจำกัดขอบเขตแล้วแต่จะกะเกณฑ์กันไป ตำแหน่งที่อวนจะลง อาจยาวแค่ 20 เมตร บางครั้งยาว 200 - 500 เมตร
สัตว์น้ำที่จับได้จากเครื่องมืออวนจมปู จะเน้นจับปูม้าเป็นหลัก สัตว์น้ำประเภทอื่น ๆ จะเป็นผลพลอยได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น เช่น ปูลายเสือ กั้ง
          วิธีการใช้อวนจมปู
อวนจมปูเป็นเครื่องมือที่มุ่งเน้นในการจับปูม้าเป็นหลัก ปูชอบเคลื่อนไหวหากินในที่ต่าง ๆ การออกแบบของชาวประมงพื้นบ้านในการใช้อวนจมปู คือ ทำให้อวนอยู่กับที่ในบริเวณพื้นผิวท้องทะเลให้เนื้ออวนอยู่บริเวณพื้นผิวทะเลมากที่สุด วางขนานกับการไหลของกระแสน้ำ จะใช้เหยื่อสด เช่น ปลากระเบน ปลาโทง เป็นต้น ชาวประมงพื้นบ้านจะวางอวนจมปูขนานไปกับชายฝั่งทะเล ในระดับความลึก 3 - 6 เมตร โดยจะเริ่มวางอวนจมปูตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเช้า วางทิ้งไว้ข้ามคืน จนเช้าของวันรุ่งขึ้นก็จะไปกู้อ้วนและปลดปูใส่ตะกร้า และวางใหม่อีกครั้งหนึ่ง จะทำอย่างนี้ทุกวัน ช่วงไหนที่มีปูน้อยก็จะหยุดใช้เครื่องมืออวนปู จะวางอวนจมปูอีกครั้งหนึ่งหลังจากลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้ามา และในเรือ 1 ลำจะใช้อวนจมปูจำนวน 4 - 5 ผืน
          3.2 อวนลอยกุ้ง 3 ชั้น
อวนลอยกุ้งนี้เป็นอวน 3 ชั้น คือ ชั้นบนสุดเป็นชั้นที่ 1 ตาอวนจะห่าง ส่วนชั้นกลางถัดมาจะมีตาอวนที่ถี่กว่า ส่วนอวนชั้นที่ 3 เป็นอวนขนาดเดียวกับชั้นแรก สีฟ้า จะมีลูกตะกั่วถ่วงไว้ด้านล่างของผืนอวน และมีทุ่นพยุงอวนบอกตำแหน่งด้านบน
สัตว์น้ำที่จับได้ด้วยเครื่องมืออวนลอยกุ้ง 3 ชั้น เช่น กุ้งแช่บ๊วย กุ้งขาว ปูม้า กั้งตั๊กแตน และปลากระเบน
          วิธีการใช้เครื่องมือลอยอวนลอยกุ้ง 3 ชั้น
อวนลอยกุ้งสามชั้นจะทำการประมงเวลากลางวัน ตั้งแต่เช้ามืดถึงเย็น จะวางอวนในระดับน้ำลึก 3 - 20 เมตรส่วนใหญ่ไม่เกิน 15 เมตร อวนแต่ละชุดจะปล่อยเป็นแนวตรงขวางกระแสน้ำโดยมีทุ่นธงบอกแนวผืนใต้น้ำ อวนแต่ละชุดจะอยู่ใกล้กัน ปล่อยให้ผืนอวนลอยตามกระแสน้ำประมาณ 30 - 60 นาที จึงกู้อวน หลังจากปลดสัตว์น้ำใส่ตะกร้าแล้ว จะนำไปวางใหม่ จนกว่าจะได้กุ้งน้อยหรือว่ากระแสน้ำหยุดไหล อวนจมกุ้งกลางคืนจะทำการประมงในเวลากลางคืน ช่วงหัวค่ำหรือเช้ามืดในบริเวณใกล้ฝั่งในระดับน้ำลึก 1 - 5 เมตร โดยจะวางอวนขวางกระแสน้ำ ปล่อยผืนล่องลอยตามกระแสน้ำนาน 2 - 3 ชั่วโมงจึงจะกู้อวน เรือ 1 ลำ ใช้อวน 2 - 3 ผืน จำนวนลูกเรือ 2 - 3 คน
          3.3 อวนปลาทู
อวนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวอวน 400 - 800 เมตร ความลึกอวน 40 - 80 เมตร ขนาดตาอวน 1.5 นิ้ว คร่าวบนเป็นทุ่นพยุงอวน คร่าวล่างผูกตะกั่ว มีน้ำหนักรวมกัน 2 - 3 กิโลกรัมต่อจุด ผูกห่างกัน 2 - 3 เมตร
สัตว์น้ำที่จับได้ด้วยเครื่องมืออวนปลาทู สามารถจับสัตว์น้ำได้ค่อนข้างจะหลากหลายชนิด ได้แก่ ปลาทู ปลากระบอก ปลาทูแขก ปลากุเลา
          วิธีการใช้เครื่องมืออวนปลาทู
อวนปลาทูเป็นเครื่องมือที่สามารถจับสัตว์ได้ในทุกที่ ทั้งในระดับน้ำลึก – น้ำตื้นใกล้ฝั่งและสามารถใช้อวนปลาทูทั้งในช่วงน้ำไหลและช่วงน้ำตาย สามารถเลือกช่วงเวลาของการออกวางอวนได้ 2 ช่วงคือ
1) ช่วงเวลา 02:00 น. จะวางอวนปลาทูในระดับน้ำทะเลลึก กู้อวนในเวลา 6 โมงถึง 7 โมงเช้า อวนที่ใช้ใน 1 ลำ จะใช้ประมาณ 4-5 ผืนขึ้นไป มีความยาวต่อผืนประมาณ 75 วา
2) ช่วงเวลา 5 โมงเย็น จะวางอวนปลาทูในเขตน้ำตื้นหรือใกล้ฝั่ง จะกู้อวนขึ้นมาเมื่อเวลาประมาณ 1 ทุ่ม จะวางเพียงครั้งเดียว เรือ 1 ลำจะใช้อวนประมาณ 3 ผืนขึ้นไป จะมีความยาวประมาณ 75 วา
          วิธีการวางอวน
วิธีการวางอวนของอวนปลาทู ทั้งในน้ำลึกหรือน้ำตื้นจะวางอวนขนานไปกับกระแสน้ำคือพยายามให้อวนอยู่กับที่มากที่สุด เพื่อรอให้สัตว์น้ำวิ่งมาติดอวน ถึงแม้กระแสน้ำจะไหลเชี่ยวแต่วิธีการวางอวนลักษณะอย่างนี้อวนจะไม่ถูกกระแสน้ำพัดพามากนัก เรือ 1 ลำ ลูกจำนวนลูกเรือ 2 - 3 คน
          กล่าวโดยสรุป เครื่องมือประมงพื้นบ้านเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำทรัพยากรสัตว์น้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการยังชีพ การรักษาสมดุลของธรรมชาติ เครื่องมือแต่ละประเภทจะถูกแบ่งไปตามลักษณะเฉพาะของประเภทสัตว์น้ำ ลักษณะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำแต่ละชนิด เครื่องมือประมงนอกจากจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางความคิดของชุมชนแล้ว ยังมีพัฒนาการมาต่างกัน บางอย่างอาจรับมาจากภายนอกชุมชน ตลาด เครื่องมือประมงพื้นบ้านจึงถูกปรับเพื่อให้เกิดความสะดวก และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และต้องรักษาสมดุลตามหลักธรรมชาติ จึงนำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ
เอกสารอ้างอิง