ภูมิปัญญาชุมชน
ปูยู
เป็นความรู้ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมประสบการณ์ มายาวนาน และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต
การต่อเรือ :
ภูมิปัญญาช่างพื้นบ้านผศ. ศุภรัตน์ พิณสุวรรณ
     การต่อเรือ เป็นภูมิปัญญาช่างพื้นบ้านถือกำเนิดขึ้นในบริเวณจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายทะเล และมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีการทำประมง จึงทำให้การต่อเรือประมงได้เติบโตขึ้นตามลำดับ การต่อเรือ ซึ่งกว่าจะทำได้สำเร็จในแต่ละขั้นตอนต้องใช้ช่างและลูกมือที่มีประสบการณ์มากเป็นทีมงาน มีการแบ่งภาระหน้าที่ไปตามความถนัดความสามารถของช่างแต่ละคน การออกแบบเรือการต่อเรือประมงส่วนใหญ่ช่างจะใช้ประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาเป็นเครื่องกำหนดกะคำนวณแบบสัดส่วนให้ได้ขนาดรูปทรงเรือที่ต้องการ
     ปัจจุบันช่างด้านการต่อเรือประมงนับวันยิ่งมีน้อยลงเนื่องจากภาวะการปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นด้านวัสดุที่ใช้ต่อเรือ นั่นคือ ไม้ ซึ่งหายากและราคาแพง ประกอบกับความต้องการของชาวประมงมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากเรือมีราคาแพง ไม่คุ้มค่ากับรายได้ และระยะเวลาที่ใช้ในการต่อเรือใช้เวลานาน เพราะต้องใช้ทักษะฝีมือมาก และต้องมีช่าง และลูกมือที่มีประสบการณ์มาก กว่าจะทำได้ในแต่ละขั้นตอนของการต่อเรือ ค่าตัวช่างก็มีค่าจ้างที่สูง
     อู่ต่อเรือตำบลปูยู ในอดีตมี 2 อู่ ปัจจุบันมีเพียงอู่เดียว อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ 2 บ้านตันหยงกาโบย ซึ่งนายมานะ โต๊ะดิน อายุ 45 ปี เป็นช่างคนเดียว ทำมาเป็นเวลาประมาณ 25 ปีแล้วโดยมีพี่ชาย นายมะแอ โต๊ะดิน ที่คอยเป็นลูกมือในบางครั้ง อู่ซ่อมเรือที่นี่ไม่มีคานยกในการต่อเรือหรือซ่อมเรือ ดังเช่นอู่ในเมืองสตูล หรือที่ตำมะลัง แต่จะอาศัยปรากฏการณ์ธรรมชาติคือช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลงในการนำเรือเข้า-ออกจากฝั่ง
     การออกแบบเรือ การต่อเรือแต่ละลำช่างจะใช้ประสบการณ์เป็นเครื่องกำหนด กะ คำนวณแบบ สัดส่วน ให้ได้ขนาด รูปทรงเรือที่ต้องการ โดยไม่มีการเขียนแบบ ต่อทั้งเรือขนาดเล็ก ขนาด 13 ตัวโครง ซึ่งวิ่งไปได้แค่หน้าเกาะยาว เป็นเรือท้ายตัดหัวยาว เรือพีท และเรือขนาดใหญ่ หรือเรือ A ที่มีเก๋งเรือ เรือ A จะวิ่งออกไปไกลกว่า ชาวประมงที่หมู่ 1 บ้านเกาะยาว นิยมใช้เรือ A มากกว่า ชาวประมงหมู่ 2 บ้านตันหยงกาโบย และ หมู่ 3 บ้านปูยู
     วัสดุหลักที่ใช้คือ ไม้ สำหรับไม้ที่นิยมใช้ต่อเรือเป็นไม้ตะเคียนชนิดต่าง ๆ ราคาเรือก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ อาทิ ตะเคียนทราย ตะเคียนราก มีราคาโดยประมาณลำละ 70,000-80,000 บาท แต่หากเป็นไม้ตะเคียนทองจะแพงกว่าประมาณสองเท่า นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการต่อเรือ อาทิ ด้ายดิบ ชันยาเรือ สีสำหรับทาเรือ แผ่นโฟม และมีเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ด้วยมือ และเครื่องมือไฟฟ้า
     ในอดีต ถ้าจะต่อเรือ จะไปตัดไม้ในป่า และต้องมีการขอไม้ เช่น ไม้ตะเคียน จะต้องเอาเทียน 1 เล่มไปขอจากที่ดิน หรือ ต้นไม้ บอกกว่าว่าจะขอไม้มาทำเรือ และจะต่อเรือก็ต้องดูวันที่เหมาะสม เพระว่าถ้าวันไม่ดี บางครั้งจะทำให้เจ็บพุง ( ปวดท้อง) ไม่สบาย เรือก็จะไม่ได้ต่อ วันที่ไม่ดี ได้แก่ วันอาทิตย์ เป็นวันร้อน และ วันพุธ เป็นวันเปื่อย วันเน่า เรือที่ต่อจะเสียเร็ว การต่อเรือควรทำวันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์ช่วงเช้า
     ขั้นตอนการต่อเรือ
     ขั้นตอนต่อเรือ ในขั้นเตรียมการจะประกอบด้วย เตรียมหาไม้ตามชนิดที่ต้องการใช้งานทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งปัจจุบันลูกค้าจะเป็นผู้จัดหาไม้เองตรงตามความต้องการใช้ สำหรับช่างต่อเรือจะเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการต่อเรือทุกชนิดเอง แล้วจึงดำเนินขั้นตอนการต่อเรือ ซึ่งสามารถแบ่งขั้นตอนได้ดังนี้
          1. การวางกระดูกงู เป็นขั้นตอนแรกของการต่อเรือ การวางกระดูกงูเปรียบได้กับสันหลังของคนจึงต้องวางไม้กระดูกงูที่ดัดโค้งไปตามรูปท้องเรือให้โค้งกับน้ำ
          2. การตั้งโขนเรือหรือทวนหัว โขนคือไม้ที่เสริมหัวเรือและท้ายเรือให้งอนเชิดขึ้น โขนจะต่อมาจากกระดูกงูเรือ
          3. การตั้งทวนท้ายหรือฝาหลัง เป็นขั้นตอนการต่อตะเกียบยื่นออกไปให้ได้รูปทรงทำให้เรือเป็นรูปสามเหลี่ยม
          4. การวางกงเป็นโครงเรือ วางพาดไปตามความยาวของเรือเป็นหลักให้กงตั้งซึ่งจะติดกับกงยาก กงตั้งจะโค้งไปตามลักษณะความลึกของท้องเรือ ตั้งแต่หัวเรือขนานกันไปเรื่อย ๆ จนถึงท้ายเรือ
          5. การวางตะเข้เรือ ทับกับกงตั้งอีกทีหนึ่งเพื่อให้เรือแข็งแรง เสริมกระดูกงูให้แข็งแรงขึ้น
          6. การขึ้นรางใบที่อยู่ด้านในของเรือเพื่อยึดเรือให้แข็งแรงโดยการตีทับกงตลอดลำเรือจากหัวเรือถึงท้ายเรือ
          7. การขึ้นกระดานเรือ คือการวางกระดานเรือหรือพื้นเรือตั้งแต่ด้านล่างสุดมาถึงด้านบนตรงกาบเรือโดยใช้ไม้เนื้อแข็งทำเป็นรูปสลักแทนตะปู
          8. การใส่กงดาดฟ้าหรือวางคาน ปูกระดานดาดฟ้าเป็นลายอเนกประสงค์
          9. การติดราโทด้านข้าง เพื่อความแข็งแรงยิ่งขึ้นและมีกาบอ่อนในอยู่ด้านนอกของตัวเรือ และปิดกาบอ่อนในให้ดูเรียบร้อยสวยงามด้วยการตีปิดหัวกง
          10. การทำห้องเย็นอยู่ด้านหน้าของหัวเรือใช้เก็บปลา ต้องมีการอัดด้วยโฟมทุกด้านภายในห้องเย็น และส่วนนี้ของตัวเรือมีเนื้อที่มากที่สุดเพราะหากตัวเรือใหญ่เท่าไรจำนวนห้องเย็นก็จะมีพื้นที่มากตาม เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยเก็บปลาเก็บกุ้งและอื่น ๆ ได้เต็มที่
          11. การทำเก๋งเรือ สำหรับเรือยนต์ เก๋งเรือเป็นห้องเล็ก ๆ มีหลังคากันฝนเป็นทั้งห้องบังคับเรือ และเป็นที่พักผ่อนของลูกเรือและไต้ก๋งเรือ หากเป็นเรือหางยาวจะมีไม่เก๋งเรือ
          12. การวางเครื่องยนต์ไว้ชั้นล่างของตัวเรือ บริเวณส่วนท้องเรือมีไม้สองท่อนวางขนานกันและเชื่อมกับใบทวนเรือซึ่งยื่นออกไปหลังหลักทรัพย์ท้ายเรือ
          13. การตอกหมันด้วยการนำด้ายดิบผสมชันยาเรือ พร้อมไปกับน้ำมันยางผสมปูนแดงเพื่ออุดรูสลักและรอยต่อระหว่างแผ่นกระดานเพื่อป้องกันน้ำรั่วเข้าไปภายในเรือ
          14. การทาสีเรือ เพื่อกันแดดกันฝน กันน้ำ กันตัวเพรียง บริเวณท้องเรือและกระดานเรือ
     การซ่อมเรือ
     นอกจากงานต่อเรือซึ่งช่างจะรับทำตามความต้องการของลูกค้าแล้ว ในบางครั้งจะมีงานซ่อมเรือส่วนใหญ่เป็นช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากเรือจอดไว้แดดเผา งานซ่อมเรือมีตลอดทั้งปี เรือลำหนึ่งใช้เวลาซ่อมประมาณ 2 สัปดาห์ แต่อาจจะนานกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเรือที่ซ่อม เรือแต่ละลำอาจนำมาซ่อม 2-3 ปีต่อครั้ง แต่ประมาณ 6 เดือนอาจต้องทาสี เพื่อป้องกันเพรียง
     เป็นที่น่าเสียดายที่อู่ต่อเรือในตำบลปูยูเหลือเพียงอู่เดียว ลูกหลานรุ่นหลัง ๆ ควรได้รับการสนับสนุนให้สืบทอดภูมิปัญญาในการต่อเรือ อาจจะเป็นรายวิชาเสริมประสบการณ์ในโรงเรียน หรือมีโครงการจัดอบรมการต่อเรือ และ ซ่อมเรือ เนื่องจากเรือยังมีความสำคัญ และจำเป็นในชีวิตประจำวันของชาวปูยู และ เกาะยาวซึ่งเป็นทั้งพาหนะในการเดินทาง และ การประกอบอาชีพ
เอกสารอ้างอิง