ภูมิปัญญาชุมชน
ปูยู
เป็นความรู้ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมประสบการณ์ มายาวนาน และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต
เรือนพื้นถิ่น :
ภูมิปัญญาการสร้างที่อยู่อาศัยดร. วราภรณ์ ทนงศักดิ์
     ในการสร้างเรือนพื้นถิ่นมุสลิม คติความเชื่อค่อนข้างมีหลากหลาย บ้างก็ว่าทิศทางในการวางตัวเรือนให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยให้หลังคาลาดชันไปในทิศตะวันออก-ตก บ้างก็ว่าการปลูกสร้างเรือนก็ไม่นิยมให้ปลูกสร้างเรือนขวางตะวัน เนื่องจากมีความเชื่อว่า จะทำให้คนในบ้านอยู่อาศัยไม่มีความสุข อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคติความเชื่อเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการสร้างเรือนพื้นถิ่นลดน้อยลง องค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบของเรือนไทยมุสลิม ประกอบด้วย
     1. ลักษณะทางกายภาพ ทั้งลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย และมีภูมิอากาศ 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน มีลมพัดผ่านอยู่เสมอ จากลักษณะดังกล่าวส่งผลต่อการสร้างเรือนไทยมุสลิม คือ มักสร้างให้ตัวเรือนมีใต้ถุนโล่ง ตั้งอยู่บนเสาไม้มีตอม่อหล่อด้วยซีเมนต์ หรือสลักจากไม้ หรือศิลาแลงรองรับเพื่อป้องกันความชื้น และป้องกันปลวกทำลายตัวเรือน หลังคาสูง ไม่มีเพดาน ช่องลมสูงเป็นพิเศษหน้าต่างมีลักษณะคล้ายประตู มีลูกกรงด้านล่างเพื่อป้องกันความปลอดภัย
     2. ศาสนา ศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอิสลามมีอิทธิพลต่อการสร้างบ้านของชาวไทยมุสลิมเป็นอย่างมาก การสร้างเรือนจึงคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเพื่อทำศาสนกิจ ดังนั้นเรือนไทยมุสลิมส่วนใหญ่มักมีพื้นที่โล่งกว้าง มากกว่าการกั้นห้อง
     3. อาชีพ อาชีพของประชาชนมักจะมีผลต่อรูปแบบการตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพประมง มักจะมีรูปแบบการตั้งถิ่นฐานเป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่งทะเล หลังบ้านหันออกทะเล มีชาน และ บันไดเพื่อขึ้น-ลงเรือ
     4. สถานภาพทางเศรษฐกิจ เรือนเป็นตัวสะท้อนฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวนั้นๆ เรือนคหบดีหรือเรือนของผู้นำทางศาสนา หรือผู้ใหญ่บ้านที่มีฐานะ มักเป็นเรือนที่มีการตบแต่งสวยงามกว่าเรือนของชาวบ้านทั่วไป
     5. ประโยชน์ใช้สอย อาคารที่ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชาวมุสลิม มีรูปแบบแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย กล่าวคือ
อาคารทางศาสนา เช่น มัสยิด สุเหร่า บาลาเซาะห์ จะมีการสร้างอย่างประณีต
ศาลา ชาวไทยมุสลิมนิยมสร้างศาลา ศาลาที่สร้างโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ศาลาริมทาง และศาลาที่สร้างในสุสานเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา
ยุ้งข้าวหรือเรือนข้าว เรือนข้าวของชาวไทยมุสลิมมักสร้างอย่างแข็งแรง และมิดชิดไม่นิยมทำหน้าต่าง เนื่องจากภาคใต้ฝนตกชุก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องป้องกันความชื้น และป้องกันสัตว์ที่จะขึ้นไปทำลายข้าว
     6. วัสดุก่อสร้าง เรือนไทยมุสลิม ทั้งที่สร้างในปัจจุบันหรือในสมัยโบราณ หลังคานิยมใช้กระเบื้องดินเผา หรือกระเบื้องลอน การมุงหลังคาด้วยสังกะสีจะไม่เป็นที่นิยม แต่จะใช้เพื่อเป็นฝาบ้านมากกว่า
     7. อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างถิ่น หากพิจารณาจากรูปทรงหลังคาของเรือนไทยมุสลิม สามารถแบ่งได้
เป็น 3 ประเภท คือ
          1) หลังคาแบบปั้นหยา ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "ลีมะฮ์ "แปลว่า หลังคาห้า
          2) หลังคาแบบจั่วมนิลา ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “บลานอ” ได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นอาณา
นิคมของฮอลันดา ซึ่งพวกเขาเรียกชาวฮอลันดาว่า "บลานอ"
          3) หลังคาแบบจั่ว ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “แมและ“ ได้รับอิทธิพลมาจากเรือนไทยภาคกลาง
     8. ความเชื่อ ความเชื่อมีผลต่อลักษณะของเรือน ทั้งในด้านการก่อสร้างและลวดลายต่างๆ ซึ่งความเชื่อที่สำคัญมากอันหนึ่ง คือ ความเชื่อทางศาสนา เช่น บ้านของชาวไทยมุสลิมจะหันหน้าบ้านไปทางทิศตะวันออก หลังบ้านสู่ทิศตะวันตก เนื่องจากชาวมุสลิมต้องละหมาด ซึ่งต้องหันหน้าไปสู่นครเมกกะ
     สำหรับในปูยู การสร้างเรือนพื้นถิ่นอาศัย 2 ภูมิปัญญาหลัก คือ ภูมิปัญญาการสร้างเรือนเครื่องผูก และเรือนเครื่องสับ โดยภูมิปัญญาการสร้างเรือนเครื่องผูกจะใช้เชือก เถาวัลย์ หรือหวาย ประกอบโครงสร้าง และตัวเรือนเข้าด้วยกัน วัสดุหลัก คือ ไม้ไผ่ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ฟากปูพื้นเรือนทำจากไม้ไผ่ ไม้แสม หรือไม้โกงกาง ฝาบ้านทำจากไม้ไผ่ที่นำมาผ่าซีก หลังคาทำจากใบจากสาคู บันไดบ้านทำจากไม้โกงกาง หรือไม้แสมเครื่องผูก เช่น เครื่องมุง เครื่องกั้นพื้นเรือน สามารถถอดเปลี่ยนซ่อมแซมได้ ส่วนเสาบ้านไม่ฝังดินเพราะจะทำให้เสาบ้านผุพังเร็ว
     ในอดีตลักษณะบ้าน และภูมิปัญญาในการสร้างบ้านของตำบลปูยูมีลักษณะเป็นแบบเรือนเครื่องผูก โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้โกงกาง ไม้แสม ใช้เถาวัลย์ผูก รูปทรงหลังคาเป็นแบบจั่วยกสูงเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก นิยมใช้สังกะสีมุงหลังคา แต่บางครั้งอาจใช้จากสาคูมุงหลังคา เอกลักษณ์ของเรือนอยู่ที่รูปทรงหลังคาและเสาเรือนที่เป็นเสาไม้ตั้งอยู่บนคอนกรีต ส่วนตัวเรือนจะเป็นเรือนยกพื้นสูง
     ส่วนภูมิปัญญาการสร้างเรือนเครื่องสับเป็นเรือนไม้ หรือเรียกว่า เรือนฝากระดาน ใต้ถุนสูงเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการทำงานหัตถกรรม มีตีนเสาคอนกรีตรองรับ มั่นคง ถาวร และปลอดภัยกว่าเรือนเครื่องผูก มีช่องลมเพื่อการป้องกันความร้อน และใช้ระบายความร้อน การเข้าไม้นิยมใช้เดือน หรือลิ่มแทนตะปู โครงสร้างเรือนใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียนทราย ไม้หลุมพอ เป็นต้น
     นอกจากนี้เรือนพื้นถิ่นในตำบลปูยูส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากรัฐปะลิส และ รัฐเปรัค ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย รูปแบบเรือนพื้นถิ่นในตำบลปูยูที่พบ มี 3 รูปแบบ ดังนี้
     1. เรือนพื้นถิ่นมุสลิมปูยู-ปะลิส รับอิทธิพลมาจากรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย มีลักษณะเป็น
เรือนไม้ยกพื้นสูง ใต้ถุนโล่ง รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตีนเสาเป็นปูนซีเมนต์ทำหน้าที่รองรับเสาหลักของเรือน หรือเรียกว่า บัว เสาเรือนนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ฝาเรือนเป็นฝาไม้ซ้อนเกร็ดแนวนอนและแนวตั้ง หน้าต่างเป็นกระจกสี มีลักษณะยาวคล้ายประตูเพื่อให้อากาศถ่ายเท และมีการซ้อนลูกกรงไม้กันตก หลังคาทรงจั่ว และทรงบลานอ ใช้กระเบื้องลอนมุงหลังคา
     เรือนพื้นถิ่นมุสลิมปูยู-ปะลิส ในหมู่ที่ 2 บ้านตันหยงกาโบย บ้านเลขที่ 62 เจ้าของบ้าน คือ นายหยัน ทุ่งยาว บอกเล่าว่า บ้านหลังนี้สร้างโดยช่างจากรัฐปะลิส รวมทั้งไม้ฝาเรือน ส่วนใหญ่เป็นไม้สะท้อน ซื้อมาในราคาแผ่นละ 5 บาท กระเบื้องลอน และ สังกะสี นำเข้ามาจากเกาะปีนัง และมีการประดับกระจกสี ช่องลม เหนือประตู หน้าต่าง ซึ่งในช่วงเวลาที่ก่อสร้างนิยมใช้ไม้ประกอบเป็นรูปทรงเรขาคณิต
     2. เรือนพื้นถิ่นมุสลิมปูยู-เปรัค รับอิทธิพลมาจากรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย มีลักษณะเป็นเรือนไม้
ยกพื้นใต้ถุนโล่ง ไม่สูงมาก เสามีแบบฝังลงดิน และมีตอม่อรองเสา รูปทรงเรือนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฝากระดานมีแบบซ้อนเกร็ดแนวตั้ง และแนวนอน เชิงชายเป็นรูปทรงต่างๆ ประตูหน้าต่างสร้างแบบไม้เข้าลูกฟักผสมซ้อนเกล็ด กระจกสี หลังคาทรงบลานอ และทรงจั่ว
     3. เรือนพื้นถิ่นมุสลิมอาคารสมัยใหม่ มีลักษณะเป็นเรือนยกสูงมีใต้ถุนเรือน เรือนสองชั้นต่อเติมเป็น
ปูนด้านล่าง เสาเรืองมีแบบฝังลงดิน และมีตอม่อรองฐานเสา ฝากระดานเป็นแบบซ้อนเกร็ดแนวตั้ง หน้าต่างบานเล็ก ไม่มีช่องลม หลังคาทรงจั่ว มุงกระเบื้อง
     ปัจจุบันเรือนพื้นถิ่น ทั้งแบบ เรือนพื้นถิ่นมุสลิมปูยู-ปะลิส และ เรือนพื้นถิ่นมุสลิมปูยู-เปรัค อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม และ ผุพัง ตามกาลเวลา และบางหลังได้ถูกรื้อ หรือ ปรับเปลี่ยน มีการขยายต่อเติม ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าเรือนพื้นถิ่นมุสลิมอาจสูญหายไปจากชุมชน ควรมีการอนุรักษ์ ซ่อมแซมเพื่อเป็น มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน
เอกสารอ้างอิง