ภูมิทัศน์วัฒนธรรม
ปูยู
จากอิทธิพลของศาสนาอิสลามและความเป็นพื้นที่ชายแดน
ตูปะ :
อาหารวันฮารีรายอผศ. ดร. นิสากร กล้าณรงค์
     ตูปะ คือ ข้าวเหนียวต้มใบกะพ้อ โดยนำข้าวเหนียวผัดกับน้ำกะทิ เกลือ น้ำตาล ผัดให้น้ำกะทิแห้ง แล้วนำข้าวเหนียวที่ผัดแล้วไปห่อด้วยยอดใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วไปต้มจนสุก ภาษามลายูปัตตานี เรียกว่า ตูป๊ะ หรือ ตูปัต ในภาษาอินโดนีเซีย และ มาเลเซีย เรียกว่า เกอตูปัต (Ketupat) ซึ่งเป็นอาหารว่างที่พบในประเทศบูรไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และภาคใต้ของไทย เกอตูปัต มีหลายประเภท โดยที่รู้จักกันมากที่สุด คือ เกอตูปัตนาซี ซึ่งทำจากข้าวขาวห่อใบมะพร้าวเป็นรูปสี่เหลียม และ เกอตุปัตปูลุต ซึ่งทำจากข้าวเหนียวห่อเป็นรูปสามเหลี่ยมด้วยใบกะพ้อ ตูปะในตำบลปูยู ที่ชาวบ้านนิยมทำกัน คือ ตูปะ ที่เป็นข้าวเหนียวที่ห่อด้วยใบกะพ้อ
     ตูปะ จะนิยมทำในช่วงเทศกาลวันฮารีรายอ ซึ่งแต่ละบ้านจะทำกินเองในครอบครัว และ แจกจ่ายเพื่อนบ้าน โดยจะมีการทำตูปะในคืนสุดท้ายของการถือศีลอด และจะกินตูปะในช่วงวันฮารีรายอ วันตรุษอีดิลฟิตรี ถือเป็นวันสำคัญแห่งการเฉลิมฉลองการละศีลอดที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเป็นเวลาหนึ่งเดือนในเดือนรอมฎอน และในวันฮารีรายอ ผู้คนในหมู่บ้านจะมีการเดินทางไปเยี่ยมเยือนญาติผู้ใหญ่ และแจกจ่ายขนม และ อาหารต่าง ๆ ตามบ้านเรือนเพื่อนบ้านในหมู่บ้านเพื่อขอโทษและให้อภัยซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
     อาหารที่รับประทานในวันฮารีรายจะมีหลากหลายทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ขนม ผลไม้ แต่ที่ขาดไม่ได้คือ ตูปะ การรับประทานตูปะ อาจจะกินเฉย ๆ เพราะรสชาติออกหวาน มัน หรือเค็มอยู่แล้ว หรืออาจจะจิ้มกับนม หรือแกงตอแมะห์เนื้อ ส่วนในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ก็นิยมกินตูปะในช่วงวันฮารีรายอเช่นกัน จะมีการกินตูปะกับแกงเนื้อ และ ซามา หรือ สมัน ซึ่งมีทั้งซามาอูแด (สมันกุ้ง) ซามาอีแก (สมันปลา) และ ซามาดากิง ( สมันเนื้อ) สมันมีวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยาก ถ้าทำสมันกุ้ง ก็ใช้กุ้งตัวไม่ใหญ่ ปอกเปลือก เอาขี้ออกให้หมด ผสมหางกะทิ ลงในกุ้ง ตั้งไฟอ่อน ๆ ใส่น้ำกะทิให้เยอะกว่ากุ้ง ใส่หอมแดงพอประมาณ ตบๆ ให้แตก ใส่ส้มแขกลงไปพร้อมกัน ใส่พริกแห้งดอกใหญ่ แล้วยี ๆ ทุกอย่างที่ใส่ทั้งหมดให้ละเอียด ใส่น้ำตาลแว่น ใส่เกลือนิดหน่อย และกวนให้เข้ากัน จะได้สมันที่รสกลมกล่อม หอม ชวนกินอย่างยิ่ง
     ในวันฮารีรายอ แต่ละบ้านจะเตรียมของกินมากมายไว้ต้อนรับแขกที่มาเยี่ยม และตูปะ ก็จะเป็นอาหารหลักที่ต้องมี ดังนั้น ตูปะ จึงเป็นสัญลักษณ์วันฮารีรายอ ไม่เพียงแต่ในภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งประเทศมาเลเซีย และ อินโดนีเซียก็ใช้ตูปะเป็นสัญลักษณ์ในการเฉลิมฉลองในเทศกาลวันฮารีรายอ จะเห็นได้จาก การประดับประดา ตูปะที่ซุ้มประตู ตามถนนหนทาง อาคารร้านค้า ต่าง ๆ และ รูปภาพ หรือ บัตรอวยพรที่ส่งผ่านทางเฟสบุ้ค ( Facebook) หรือ ไลน์ (Line) ก็มีสัญลักษณ์ของรูปตูปะ ทั้งตูปะสามเหลี่ยม และตูปะสี่เหลี่ยม
     ในช่วงเทศกาลฮารีรายาในตำบลปูยูจะกินตูปะกับแกงตอแมะห์ ในอดีตตูปะจะทำกันทุกบ้าน มีทั้งรูปแบบที่เป็นการสานเป็นรูปตะกร้อ และ สามเหลี่ยม เครื่องปรุงที่ใช้ทำตูปะหาได้ไม่ยุ่งยาก มีเพียงข้าวเหนียว มะพร้าว น้ำตาล และ เกลือ เท่านั้น และ ยอดอ่อนของใบกะพ้อ ก็หาได้ง่ายในหมู่บ้านซึ่งขึ้นอยู่ตามป่ายางพารา กะพ้อ เป็นพืชตระกูลปาล์มถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น ใบกะพ้อในเกาะยาว และ เกาะปูยูมีอุดมสมบูรณ์ ในช่วงใกล้เทศกาลวันฮารีรายอจะตัดไปขายยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งขายได้ราคาสูงกว่าในประเทศไทย
     การทำตูปะของแต่ละบ้านรสชาติอาจแตกต่างกัน โดยแต่ละบ้านจะมีสูตรการผสมข้าวเหนียวที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจมีรสชาติหวาน มัน เค็มแตกต่างกัน นาง ยะอาเหตุ ยาฟา เป็นผู้หนึ่งที่ทำตูปะที่อร่อย อาศัยอยู่หมู่ที่ 3 บ้านปูยู ภูมิลำเนาเดิม อยู่อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เริ่มทำตูปะตั้งแต่ อายุ 12 ปี รวมเวลาทำทั้งหมดกว่า 50 ปี จึงมีความเชี่ยวชาญทั้งการผัดข้าวเหนียว การห่อข้าวเหนียวด้วยใบพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยม ถ้านั่งดูมะยะอาเหตุห่อดูคล่องแคล่ว สวยงาม แต่ถ้าคนที่ไม่เคยห่อมาก่อน จะรู้ว่าไม่ง่ายเลย ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นหลัง ๆ โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะห่อตูปะไม่เป็นแล้ว บางครัวเรือนในช่วงเทศกาลฮารีรายอก็จะไม่ทำตูปะเอง แต่จะซื้อ ซึ่งปัจจุบันราคาตูปะ ลูกละ 3 บาท นอกจากนี้ เด็กๆ จะชอบกินขนมอบ สีสันสดใส และรสชาติหวาน อร่อย ที่ซื้อมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งดึงดูดใจเด็กๆ ได้มากกว่าตูปะ
     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันมีคนส่วนน้อยในตำบลปูยูที่ทำตูปะเป็น เนื่องจากไม่ได้ฝึก หรือเรียนรู้จากผู้ใหญ่ในครัวเรือน ประกอบด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เด็ก ๆ ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญ เพราะมีขั้นตอนและวิธีการทำที่ต้องใช้ความพยายามและความปราณีต หากได้รับการฝึกก็สามารถสืบทอดการทำตูปะได้ ซึ่งในปัจจุบันหาทานได้ยาก และเป็นอาหารพื้นบ้านที่จะมีเฉพาะในเทศกาลและวันสำคัญหรือโอกาสพิเศษต่างๆของชาวปูยูนั้น
     ตูปะ ควรเป็นอาหารหลักในช่วงเทศกาลวันฮารีรายอคู่กับชุมชนปูยู เป็นการสืบสานวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้ปฏิบัติมาอย่างยาวนาน เด็ก ๆ ควรได้รับการถ่ายทอด และ ฝึกหัดการห่อข้าวเหนียวด้วยใบกะพ้ออ่อน ซึ่งเป็นการทำอาหารที่มีความประณีต สวยงาม และดำรงไว้ซึ่งประเพณีที่ดีงามของวันฮารีรายอ
เอกสารอ้างอิง