ภูมิทัศน์วัฒนธรรม
ปูยู
จากอิทธิพลของศาสนาอิสลามและความเป็นพื้นที่ชายแดน
นกกรงหัวจุก :
สัตว์เลี้ยงของผู้ชายมุสลิมดร. วราภรณ์ ทนงค์ศักดิ์
     นกกรงหัวจุกในประเทศไทย เริ่มจากชาวจีนที่เดินทางโดยเรือสำเภา เพื่อเข้ามาค้าขายในประเทศไทยกับประชาชนชาวมุสลิมทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งชาวจีนได้แนะนำวิธีการเลี้ยง อุปนิสัย และความสามารถของนกในเรื่องของ เพลงร้องของนกให้แก่ชาวมุสลิมที่มีพื้นฐานการเลี้ยงนก เดิมทีชาวมุสลิมนิยมเลี้ยงนกเขาชวา เริ่มสนใจและหันมาเลี้ยงนกกรงหัวจุก บ้างก็เล่าว่า สมัยก่อนช่วงฤดูการถือศีลอด คนจะมีความรู้สึกว่า เวลาในแต่ละวันยาวนานจึงหากิจกรรมและเริ่มเลี้ยงนกกรงหัวจุกไว้ที่บ้าน เพื่อความเพลิดเพลิน แต่ในสมัยนั้น การเลี้ยงนกกรงหัวจุกยังไม่ได้รับความนิยมเท่ากับการเลี้ยงนกเขาชวา ต่อมานกเขาชวาเริ่มมีราคาสูงขึ้น หลายคนไม่มีทุน จึงเริ่มเลี้ยงนกกรงหัวจุก และเริ่มเลี้ยงอย่างแพร่หลายราว 20 ปีที่ผ่านมา จนเป็นที่นิยมเลี้ยงกันทุกวัย เกือบทุกครอบครัวจะแขวนกรงนกกรงหัวจุกไว้หน้าบ้าน จนกลายเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่พบเห็นในชุมชนมุสลิม เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของนกกรงหัวจุก คือ เป็นนกที่มีเสียงร้องไพเราะน่าฟัง เมื่อนิยมเลี้ยงกันมากขึ้น จึงเริ่มมีการแข่งขันประชันเสียงนก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกเพศผู้ที่มีเสียงที่ไพเราะน่าฟัง
     ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง มีการเลี้ยงนกกรงหัวจุกกันอย่างแพร่หลาย ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ตำบลปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ที่มีการเลี้ยงนกกรงหัวจุกทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ไทย สายพันธุ์พม่า และสายพันธุ์เวียดนาม บ้างก็เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน บ้างก็เลี้ยงเพื่อการแข่งขันประชันเสียง นกกรงหัวจุกที่ซื้อขาย มีช่วงอายุประมาณ 3 ปีขึ้นไป ราคาซื้อขายประมาณ 5,000 บาทต่อตัว แต่เดิมจะมีเพียงสายพันธุ์เดียว คือ สายพันธุ์ไทย ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2551 ได้เริ่มนำสายพันธุ์เวียดนาม และสายพันธุ์พม่าเข้ามา โดยสายพันธุ์เวียดนามเข้ามาก่อนสายพันธุ์พม่า ทั้งสองสายพันธุ์สามารถร้องเป็นเพลงได้เร็วกว่าสายพันธุ์ไทย อีกทั้งในปัจจุบันนกกรงหัวจุกสายพันธุ์เวียดนามถือได้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่นิยมมากที่สุดในปูยู
     นกกรงหัวจุกทั้ง 3 สายพันธุ์ จะมีลักษณะทำนองเพลงที่ร้องแตกต่างกัน สายพันธุ์พม่าทำนองเพลงที่ร้องจะมีลักษณะเสียงสั้นๆ 2-3 พยางค์ สายพันธุ์เวียดนาม ทำนองเพลงที่ร้องจะมีลักษณะเสียงยาวๆ 6 พยางค์ส่วนสายพันธุ์ไทย ทำนองเพลงที่ร้องจะมีลักษณะเสียงที่ไพเราะที่สุด โดยสำเนียงเสียงจะชัดเจนมี 3 พยางค์
     นอกจากทำนองเพลงที่นกกรงหัวจุกทั้ง 3 สายพันธุ์จะร้องแตกต่างกันแล้ว นกกรงหัวจุกทั้ง 3 สายพันธุ์ ยังมีลักษณะรูปร่าง สีขน และขนโคนหาง หรือเรียกอีกอย่างว่า บัวของนก ที่แตกต่างกัน สังเกตได้จาก ลักษณะรูปร่างนกกรงหัวจุกสายพันธุ์ไทยจะมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 สายพันธุ์ รองลงมา คือ สายพันธุ์เวียดนาม และสายพันธุ์พม่า ตามลำดับ ส่วนการสังเกตสีขนของนกกรงหัวจุกแต่ละสายพันธุ์ดูได้จากแผงหลังของนกกรงหัวจุก ลักษณะสีขนของนกกรงหัวจุกสายพันธุ์ไทยจะเข้มกว่าสายพันธุ์เวียดนาม และสายพันธุ์พม่า และข้อสังเกตที่จะแยกสายพันธุ์นกกรงหัวจุกได้อย่างชัดเจน คือ ขนโคนหาง หรือบัวของนก วิธีสังเกตบัวของนกกรงหัวจุก จะมีลักษณะขนเป็นสีแดง ถ้าเป็นสายพันธุ์เวียดนาม สีขนจะมีลักษณะเป็นสีส้มมากกว่า สายพันธุ์พม่า สีขนจะจาง และสีขนจะมีลักษณะออกเป็นสีขาว ส่วนสายพันธุ์ไทย สีขนจะมีลักษณะที่ไม่แดง หรือขาวจนเกินไป
     วิธีการสังเกตเพศนกกรงหัวจุก
     สังเกตได้จากแก้มของนก นกกรงหัวจุกตัวเมีย จะมีวงแก้มแดงเล็กกว่าตัวผู้ แต่นกกรงหัวจุกตัวเมียจะไม่มีราคา เพราะมีเสียงร้องไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถนำไปแข่งขันได้ ประโยชน์ของนกกรงหัวจุกตัวเมีย คือ ใช้หลอกล่อนกกรงหัวจุกตัวผู้
     ก่อนลงแข่งขัน จะมีนกซ้อม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคู่ซ้อมให้นกแข่ง กล่าวคือ แขวนกรงนกซ้อมใกล้ๆ กับนกแข่ง เพื่อช่วยกระตุ้นให้นกแข่งส่งเสียงร้อง แต่บางครั้งปรากฏว่า นกซ้อมบางตัวร้องได้ดีกว่านกแข่ง นกซ้อมตัวนั้นจะยกระดับกลายเป็นนกแข่งแทน
     บ้านเกือบทุกหลังในตำบลปูยู จะเลี้ยงนกกรงหัวจุก อย่างน้อยเลี้ยงบ้านละ 3-4 ตัว โดยหมู่ที่ 2 บ้านตันหยงกาโบย เลี้ยงนกกรงหัวจุกมากที่สุดประมาณ 50 ตัว นอกจากเลี้ยงนกกรงหัวจุกแล้ว พบว่า ยังมีการเลี้ยงนกอีกชนิดเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน แต่เป็นที่นิยมน้อยกว่า นั้นคือ นกบินหลาดง
     วิธีการเลี้ยงนกกรงหัวจุก
     ผู้เลี้ยงเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า ประมาณ 08.00 – 09.00 น. เปิดผ้าคลุมกรงนกออก เป็นการปลุกให้นกตื่น จากนั้นเอานกมาตากแดดจนเที่ยง เนื่องจากการแข่งขันจะแข่งกลางแดด ดังนั้นนกจึงต้องตากแดดยาวนานเพื่อให้นกทนแดด ช่วงบ่ายประมาณบ่ายสองโมงผู้เลี้ยงจะอาบน้ำให้นก การอาบน้ำจำเป็นต้องอาบน้ำทุกวันเพื่อให้ขนนกเงางาม อาบน้ำเสร็จจึงนำนกมาแขวนไว้ในบ้าน และเวลา 17.00 น. ปิดผ้าคลุมกรงนก เพื่อให้นกนอนพักผ่อน เป็นเช่นนี้ทุกวัน
     นกกรงหัวจุก นิยมทานผักและผลไม้ หรืออาจจะเป็นอาหารเม็ด ผู้เลี้ยงมักจะให้อาหารเม็ดเฉพาะเวลาเที่ยง (ก่อนอาบน้ำ) ส่วนผลไม้ต่างๆ สามารถให้ได้ทั้งวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยหิน ส่วนมะละกอจะเป็นผลไม้ที่ช่วยให้นกขับถ่าย จะให้ 2-3 อาทิตย์/ครั้ง เพียงเล็กน้อย
     การเลี้ยงนก ในบางช่วงสามารถพบอาการเจ็บป่วยของนกได้ สังเกตได้จาก เมื่อนกมีอาการซึม จาม ขนพอง และคอตก การรักษาจะรักษาด้วยยาสามัญประจำบ้าน ส่วนใหญ่นกมักป่วยเป็นโรคหวัด ดังนั้น ผู้เลี้ยงจะให้ยาน้ำ B12 (แก้หวัดและบำรุง) หรืออาจจะใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรแบบสด โดยใช้ใบของฟ้าทะลายโจร 1 ใบ ใส่ลงในจอกน้ำ เพื่อให้นกจิบ แล้วอาการป่วยจะทุเลา
     การแข่งขันนกกรงหัวจุกในตำบลปูยู
     ในตำบลปูยู จะจัดแข่งขันนกกรงหัวจุกทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันเสาร์ เวลาประมาณ 11 โมงเช้า ค่าเข้าร่วมการแข่งขันหรือค่าบัตร ราคา 60 บาทต่อนกหนึ่งตัว ส่วนรางวัลสำหรับเจ้าของนกที่ชนะ คือ เงิน หรือพัดลม
     กติกาการแข่งขัน
ใน 1 ล็อต จะมีนกกรงหัวจุกเข้าแข่งขัน จำนวน 8 ตัว และจะมี 1 รางวัล โดยในแต่ละวันจะมีสนามแข่งขันต่างกัน กล่าวคือ วันจันทร์ สนามแข่งขันอยู่ที่หมู่ 3 บ้านปูยู บริเวณหัวแหลม ส่วนวันพุธและวันเสาร์ สนามแข่งขันอยู่ที่หมู่ 2 บ้านตันหยงกาโบย บริเวณบ้านหน้าโรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา นอกจากแข่งขันกันเองในปูยูแล้ว ชาวบ้านได้นำนกกรงหัวจุกเข้าร่วมการแข่งขันในเมืองสตูล แต่ส่วนใหญ่นกที่เข้าร่วมการแข่งขันในเมืองสตูลจะเป็นนกที่ชนะการแข่งขันในสนามของตำบลปูยู ในเมืองสตูลจะจัดแข่งขันเดือนละ 1-2 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นนกกรงหัวจุกสายพันธุ์เวียดนาม และสายพันธุ์ไทย สำหรับกฎกติกาการแข่งขันในแต่ละครั้ง ประกอบด้วย การแข่งขัน 2 รอบ ได้แก่ รอบคัดเลือก จะมี 4 ยก ยกละ 15 วินาที โดยนกจะต้องร้องได้ 8 คำ (8 ดอก) ถึงจะได้เข้ารอบชิง ส่วนรอบชิงชนะเลิศ หากนกตัวไหนร้องได้มากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ นกกรงหัวจุกที่ชนะส่วนใหญ่เป็นนกกรงหัวจุกสายพันธุ์เวียดนาม และตัวที่ชนะมักจะเข้าร่วมการแข่งขันในสนามในจังหวัดต่อไป สนามแข่งขันนกกรงหัวจุกจึงเป็นอีกหนึ่งภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่จะพบได้ทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และ สตูล
เอกสารอ้างอิง