ภูมิทัศน์วัฒนธรรม
ปูยู
จากอิทธิพลของศาสนาอิสลามและความเป็นพื้นที่ชายแดน
ภาษามลายูถิ่น :
ความผูกพันกับประเทศเพื่อนบ้านผศ. ศุภรัตน์ พิณสุวรรณ
     ภาษาถิ่น หมายถึง รูปของภาษาที่พูดกันในท้องถิ่นแต่ละถิ่นเป็นไปตามอิทธิพลของภูมิศาสตร์ที่ กําหนดขึ้น เป็นภาษาย่อยของภาษามาตรฐานเดียวกัน ภาษาในแต่ละถิ่นมีลักษณะที่แตกต่าง หรือ ใกล้เคียงกับภาษามาตรฐาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อมทางด้านภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม
     ภาษามลายูถิ่น หมายถึง ภาษามลายูสําเนียงใดสําเนียงหนึ่งที่พูดกันในแต่ละท้องถิ่น เป็นภาษาย่อยของภาษามลายูมาตรฐาน ซึ่งเป็นภาษาราชการและภาษาแห่งชาติของประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน สำหรับภาษามลายูถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย หมายถึง ภาษามลายูถิ่นที่พูดกันในท้องถิ่นต่าง ๆ ในบริเวณจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ไม่จํากัดว่าเป็นจังหวัดใดโดยมากจะพูดกันในท้องถิ่นบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และในบางอําเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย และ อำเภอนาทวี โดยมีลักษณะสำคัญของภาษามลายูถิ่น คือมักจะเรียกตามชื่อจังหวัดที่ใช้ภาษานั้น ๆ เช่น ถ้าเป็นภาษามลายูถิ่นที่พูดกันในท้องถิ่นจังหวัดสตูล ก็เรียกว่า ภาษามลายูถิ่นสตูล ซึ่งเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษามลายู ใช้พูดในทางภาคตะวันตกของมาเลเซีย ได้แก่ รัฐเกดาห์ (ไทรบุรี) รัฐปีนัง รัฐปะลิสและทางตอนเหนือของรัฐเปรัค ในประเทศไทยมีผู้พูดในจังหวัดสตูล บางส่วนของจังหวัดตรังและระนอง ซึ่งถือว่าเป็นภาษามลายูสําเนียงฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทย ที่มีภาษามลายูถิ่นสตูลเป็นแม่แบบ จะมีการออกเสียงแตกต่างจากภาษามลายูถิ่นปัตตานี แต่สามารถนําไปใช้สื่อสารกับผู้ที่ใช้ภาษามลายูถิ่นปัตตานีได้โดยไม่ลําบากนัก
     สตูลเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของประเทศไทยทางฝั่งทะเลด้านตะวันตกหรือเรียกว่าทะเลอันดามัน และมีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดกับประเทศมาเลเซีย ในอดีตสตูลและมาเลเซียสองพื้นที่ดังกล่าวมีประวัติศาสตร์ร่วม นั่นคือในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่แถบนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองไทรบุรี ซึ่งช่วงเวลานั้นอยู่ในฐานะเมืองประเทศราชของอาณาจักรสยาม มีสุลต่านปกครอง ต่อมามีการจัดตั้งระบบการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า “มณฑลไทรบุรี” ครอบคลุมพื้นที่ 3 เมือง คือ ไทรบุรี ปะลิส และสตูล ต่อมาเมื่อมีการปักปันเขตแดนในการทำสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษในปี ค.ศ. 1909 ส่งผลให้เมืองสตูลซึ่งมีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ของเกาะปูยู และเกาะยาว อยู่ในอาณาเขตของสยามด้วย จะเห็นได้ว่า ตำบลปูยู มีความสัมพันธ์อย่างยาวนานกับไทรบุรี หรือรัฐเกดาห์ในปัจจุบัน มีวัฒนธรรมร่วมกัน โดยเฉพาะภาษาพูด และยังมีการไปมาหาสู่กันของญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย และ ตำบลปูยู เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมส่งต่อกันมาและจากรุ่นสู่รุ่น
     ทวี เต็งรัง ได้กล่าวถึงบรรพบุรุษของหมู่ 1 บ้านเกาะยาว ว่า เป็นมุสลิมจากอินโดนีเซีย ที่มีอาชีพทำประมง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของตระกูล “ริมัด” และ ตระกูล “ริมัด” อีกสายหนึ่งเดินทางมาจากรัฐปีนัง ซึ่งเข้ามาในภายหลัง และการตั้งถิ่นฐานบนเกาะยาวในอดีตได้มีชาวมุสลิมจากไทรบุรีเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านเกาะยาวเช่นกัน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของตระกูล “ กาหมัด” ในปัจจุบัน ซึ่งการตั้งถิ่นฐานนี้มีมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ช่วงอายุคน และ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับเครือญาติจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในรัฐปะลิส และ รัฐเกดาห์ ประเทศมาเลเซีย ขณะที่การเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะปูยูในยุคบุกเบิก เกิดจากการเข้ามาของ “โต๊ะเต๊ะ” ซึ่งเป็นชาวเมืองไทรบุรี และเป็นบรรพบุรุษของตระกูล “เต๊ะปูยู” โดยเข้ามาปลูกบ้านที่ “หัวแหลม” และตระกูล “ปุนยัง” บรรพบุรุษเดินทางมาจากปะลิส ขณะที่ตระกูลย่อยอื่น ๆ มักจะมีบรรพบุรุษเป็นชาวปะลิส ไทรบุรี และ ละงู หรือถ้าสังเกตจะพบว่า นามสกุลของชาวปูยู จะมีนามสกุลหลัก 3 นามสกุล ได้แก่ เต๊ะปูยู โต๊ะดิน และ ปุนยัง ทำให้ผู้ที่อาศัยในเกาะยาว และ เกาะปูยู ใช้ภาษามลายูถิ่นสื่อสารในชีวิตประจำวัน มาจนถึงปัจจุบัน
     ในจังหวัดสตูล มีหลายชุมชนที่ยังรักษาวัฒนธรรมด้านภาษามลายู กล่าวคือ มีการพูดหรือดำเนินชีวิตที่คล้ายกับวิถีชีวิตคนในรัฐปะลิส รัฐเปรัค และรัฐเกดาห์ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นชุมชนในตำบลที่มีพรมแดนติดต่อกับทะเล หรือเป็นเกาะของอำเภอเมือง จังหวัดสตูล ได้แก่ ตําบลปูยู ตําบลตํามะลัง ตำบลตันหยงโป ตำบลเจ๊ะบิลัง และตำบลเกาะสาหร่าย และในตําบลบ้านควน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียทางบก จะพบว่า ผู้สูงอายุในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่จะพูดภาษามลายูถิ่น ไม่สามารถเข้าใจภาษาไทย ขณะที่คนรุ่นหนุ่มสาว และเด็กๆ จะสามารถพูดได้ทั้งภาษามลายูถิ่น ภาษาไทย และ ภาษาใต้ ซึ่งคนในจังหวัดสตูลส่วนใหญ่จะสื่อสาร หรือพูดคุยกันในชีวิตประจำวันโดยใช้ภาษาใต้
     ในตำบลปูยู ซึ่งไม่ต่างจากสังคมมุสลิมทั่วไป นั่นคือครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย มีจำนวนบุตรมาก ในครัวเรือนจะมีทั้งปู่ย่า หรือตายาย พ่อแม่ และ ลูก ๆ เป็นครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ และเมื่อแต่งงาน แยกครอบครัวก็นิยมปลูกบ้าน ใกล้ ๆ กัน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้อง หรือสมาชิกในครอบครัว เห็นได้ว่าในสังคมมุสลิมนิยมไปมาหาสู่กันในแต่ละวันหลายครั้งและสมาชิกทุกคนก็มีความสนิทสนม มีการพบปะกันทุกวัน และมีการใช้คำเรียกเครือญาติที่เป็นภาษามลายูเป็นส่วนใหญ่ เช่น ป๊ะ หมายถึง พ่อ และ มะ หมายถึง แม่ และผู้ที่สูงอายุ จะเรียกว่า โต๊ะ เช่น ปู่ย่า และ ตายาย คำที่ใช้เรียกเครือญาติส่วนใหญ่ไม่เพียงเป็นคำที่ใช้เฉพาะในครอบครัวเท่านั้น เพราะคนมลายูมุสลิมถือว่าคนที่นับถือศาสนาเดียวกัน คือ พี่น้องกัน ถึงแม้เป็นคนที่ไม่รู้จักกัน ดังนั้นเห็นได้ว่า การเรียกชื่อในเครือญาติสามารถปรากฏในทุกสถานที่ที่ เช่น ร้านขายของ หรือ ร้านอาหาร แม่ค้าที่เป็นผู้หญิง มักจะเรียกชื่อ แทนด้วยคำว่า มะ หรือ กะ ถ้าเป็นผู้ชายที่มีอายุมากกว่าจะเรียกว่า ป๊ะ หรือ บัง เป็นต้น และเรียกเด็กเล็ก ๆ ว่า เด๊ะ แม้แต่กับผู้คนภายนอกที่เดินทางไปยังชุมชนปูยู ชาวบ้านก็จะแทนตัวเองกับผู้มาเยือนด้วยการเรียกชื่อในเครือญาติเช่นกัน ซึ่งเป็นการต้อนรับที่อบอุ่น
และถึงแม้ผู้สูงอายุบางคนจะพูดภาษาไทยไม่ได้ ก็จะยิ้มแย้ม และยินดีต้อนรับผู้มาเยือนเช่นกัน
     หากมองในข้อได้เปรียบ เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งของปูยูที่เป็นเกาะที่ใกล้กับเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ทำให้ยังมีการเดินทางไปมาหาสู่กันของญาติพี่น้อง โดยเฉพาะเมื่อมีการเจ็บป่วย หรืองานสำคัญในชีวิต เช่น การเกิด การเข้าสุนัต การแต่งงาน และ งานศพ และการย้ายถิ่นเข้าไปรับจ้างทำงานในประเทศมาเลเซียของประชาชนจากตำบลปูยู ภาษามลายูถิ่นจึงมีความจำเป็นในการสื่อสารเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ดังนั้น ชาวปูยูควรที่จะสืบทอดการใช้ภาษามลายูถิ่นสตูลซึ่งมีความใกล้เคียงกับภาษาถิ่นมลายูรัฐปะลิสที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ควบคู่กับการใช้ภาษาไทยเพื่อการดำรงชีพได้อย่างดีท่ามกลางความได้เปรียบของที่ตั้งซึ่งเป็นตำบลชายแดนของประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย
เอกสารอ้างอิง