ภูมิทัศน์วัฒนธรรม
ปูยู
จากอิทธิพลของศาสนาอิสลามและความเป็นพื้นที่ชายแดน
การแต่งกาย :
นุ่งห่มตามวิถีมุสลิมดร. วราภรณ์ ทนงศักดิ์
     การแต่งกายของชาวมุสลิม ไม่ว่าหญิงหรือชาย ถือเป็นหนึ่งในบทบัญญัติที่สำคัญของศาสนาอิสลาม ยึดปฏิบัติมาพร้อมกับการถือกำเนิดของศาสนาอิสลามหรือกว่า 1,400 ปีมาแล้ว การแต่งกายของมุสลิมตามหลักการในศาสนาอิสลาม มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การปกปิดสิ่งพึงละอายของร่างกาย โดยเฉพาะร่างกายของสตรีมุสลิม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเรือนร่างเพศหญิง ดึงดูดความสนใจของบุรุษเพศ อันจะก่อให้เกิด “ฟิตนะห์” (ความเสียหาย ความไม่ดีไม่งามต่อสังคม) ศาสนาอิสลามจึงได้วางหลักเกณฑ์ไว้เพื่อป้องกันฟิตนะห์ที่จะเกิดขึ้น
     การแต่งกายของชาวมุสลิมในชีวิตประจำวัน และในช่วงเทศกาลจะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเทศกาลนั้นๆ เสื้อผ้าที่สตรีมุสลิมสวมใส่ในชีวิตประจำวันเมื่อต้องออกสู่สาธารณะ จะปกปิดร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เผยให้เห็นได้แค่สองส่วน ได้แก่ ใบหน้าและฝ่ามือ โดยมีองค์ประกอบที่ต้องสวมใส่หลักๆ คือ ผ้าคลุมศีรษะ ที่เรียกว่า ฮีญาบ จะปกปิดผม ลำคอ คลุมยาวไปถึงหน้าอก ส่วนในช่วงเทศกาลหรืองานรื่นเริงเฉลิมฉลอง เสื้อผ้าจะมีสีสันฉูดฉาดและมีลูกเล่นมากขึ้น ตัวชุดจะถูกปักประดับด้วยลวดลายงดงาม ใช่ว่าเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายเองแม้การแต่งกายจะไม่ปกปิดเท่ากับผู้หญิง แต่ก็ปกปิดร่างกายตั้งแต่บริเวณเหนือสะดือจนถึงหัวเข่า และห้ามสวมชุดที่ทำจากผ้าไหม ชุดที่ผู้ชายนิยมสวมใส่กันทั่วไป จะเป็นชุดยาวที่เรียกว่า โต๊ป ลักษณะเป็นชุดยาวคลุมข้อเท้า ในแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทย ผู้ชายจะนิยมนุ่งผ้าโสร่ง โสร่งเป็นผ้านุ่งอย่างหนึ่ง ที่ใช้ผ้าผืนเดียว เพลาะชายสองข้างเข้าด้วยกันเป็นถุง แบบเดียวกับผ้าถุง หรือผ้าซิ่น ใช้นุ่งอย่างแพร่หลาย ทั้งหญิงและชาย ในหลายประเทศของเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน บังคลาเทศ ฯลฯ นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในหลายท้องถิ่นในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยที่แต่ละท้องถิ่น จะมีชื่อเรียกต่างกันไป อาจเรียกรวมๆ ได้ว่า โสร่ง อย่างไรก็ตาม การแต่งกายของผู้ชายจะมีการพิถีพิถันมากขึ้นเมื่อมีพิธีการงานสำคัญ เช่น พิธีละหมาด นอกจากจะต้องแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย ผู้ชายมุสลิมจะต้องสวมใส่หมวกที่เรียกว่า หมวกกะปิเยาะ กะปิเยาะทำหน้าที่รวบผมที่ปิดบังหน้าผากเอาไว้ไม่ให้สัมผัสพื้นขณะก้มกราบ การมีเส้นผมมาปิดบังหน้าผากแม้เพียงสามเส้น ก็ทำให้การละหมาดครั้งนั้นเป็นโมฆะได้
     ตำบลปูยู ดินแดนที่มีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามหรือมุสลิม 100 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นชุมชนที่สามารถสัมผัสได้ถึงแรงศรัทธาในศาสนาที่ยังคงเหนียวแน่น มีวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแต่งกาย ที่สะท้อนออกมาให้เห็นทั้งการแต่งกายในชีวิตประจำวัน และในช่วงเทศกาลหรือพิธีการสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีแต่งงาน เทศกาลฮารีรายอ และงานเลี้ยงกินนุหรี ที่มีการแต่งกายอย่างพิถีพิถัน สวยงาม ถือได้ว่าเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่เด่นของชุมชนปูยูอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งการแต่งกายของคนปูยูจะแตกต่างกันในแต่ละโอกาส ดังนี้
     1. ในชีวิตประจำวันทั่วไป
ผู้ชายจะนุ่งโสร่ง กางเกงชาวเล และสวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้น หรือ เสื้อโปโล แขนสั้น ผู้ชายสูงงอายุ หรือผู้ใหญ่ ถ้าอยู่บ้าน บางครั้งจะนุ่งโสร่งผืนเดียวโดยไม่สวนเสื้อ เนื่องจากอากาศร้อน และ อยู่ภายในบ้านของตัวเอง ผู้หญิงหรือสตรีมุสลิมในช่วงเวลาที่อยู่บ้านมักจะนิยมนุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะ และเสื้อยืด หรือเสื้อที่ตัดเย็บ ซึ่งนิยมสวมเสื้อแขนยาว ถ้าอยู่ภายในบ้านเป็นการส่วนตัวบางครั้งจะไม่ใส่ผ้าคลุมศีรษะ แต่เมื่อจะออกนอกบ้านจะใส่ผ้าคลุมศีรษะทันที่ ผู้หญิงมุสลิมที่มีอายุมาก เมื่ออยู่บ้านบางครั้งจะใส่ผ้าถุงกระโจมอก โดยไม่ใส่เสื้อ เพราะอากาศร้อน แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะนิยมใส่ผ้าโสร่งปาเต๊ะ และสวมเสื้อกุรงตัวสั้น ซึ่งเป็นเสื้อที่ตัดเย็บอย่างง่าย ๆ และ สวมใส่สบาย เสื้อผ้าที่สตรีสวมใส่นิยมสีสันที่ฉูดฉาด มีลวดลายสวยงาม
     2. งานแต่งงานหรือพิธีนิกะห์
การแต่งงานหรือการประกอบพิธีนิกะห์นั้น ปกติแล้วจะมีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. การแต่งงานตามบทบัญญัติของศาสนา 2. การแต่งงานตามประเพณีที่ปฏิบัติกัน ทั้งนี้ก่อนการทำพิธีนิกะห์ ว่าที่คู่บ่าวสาวจำเป็นที่จะต้องมีโต๊ะครู อาจารย์ บาบอ อุซตาซ ซึ่งเป็นชื่อเรียกของผู้รู้ตามหลักศาสนาอิสลามที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ เป็นผู้ทำพิธีนิกะห์ให้
     ส่วนการแต่งกาย เจ้าบ่าวจะสวมเสื้อแขนยาว หรือเรียกว่า เสื้อตะโละบลางอ นุ่งโสร่ง ใส่กะปิเยาะห์ และติดเข็มกลัด ส่วนเจ้าสาวจะใช้ชุด 2 ชุด คือ ชุดกูบายา และชุดราตรี ซึ่งชุดกูบายา (baju kebaya) เป็นชุดแบบดั้งเดิมที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลจากประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย ชุดกูบายาอาจตัดเย็บจากผ้าปาเต๊ะ หรือผ้าสีพื้น และประดับตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้ ลูกปัด ดิ้นแบบต่างๆ ชุดกูบายามีลักษณะ คือ เสื้อรูปทรงตรง มีผ้าถุง 2 ผืน ใช้สำหรับนุ่ง 1 ผืน และใช้คลุมหน้าไม่ให้ใครเห็น 1 ผืน ซึ่งชุดนี้จะใช้ในตอนนิกะห์ หรือแต่งงานในเวลาช่วงเช้า-เที่ยง ส่วนชุดราตรี เป็นชุดที่ตัดเย็บตามความต้องการตามสมัยนิยม ใช้ตอนเจ้าบ่าวรับเจ้าสาว นอกจากเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมแล้ว พิธีงานแต่งงานหรือพิธีนิกะห์มีข้อห้ามที่ไม่ควรทำ และถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการประกอบพิธี คือ การเชื่อเรื่องของโชคลาง ซึ่งอิสลามสามารถแต่งงานกันเมื่อใดก็ได้ โดยที่ห้ามเชื่อเรื่องของโชคลาง ยิ่งถ้าแต่งงานกันในวันที่คนอื่นไม่แต่งกันยิ่งดี เพราะเป็นการพิสูจน์ว่าเราไม่เชื่อเรื่องฤกษ์ยาม อีกประการหนึ่งที่ชาวมุสลิมบางพื้นที่อาจจะลืมก็คือ การแต่งงานแบบอิสลามจะไม่มีการแห่ใดๆ
     3. วันฮารีรายอ
การแต่งกายในวันสำคัญ คือ วันฮารีรายอ ชาวมุสลิมมักจะร่วมกันสวมใส่เครื่องแต่งกายมลายู เพื่อสืบ
สานวัฒนธรรม โดยสุภาพบุรุษจะสวมชุด “ตือโละบลางอ” ซึ่งมีลักษณะเป็นเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และมีผ้าคาดเอวลวดลายวิจิตรงดงามเรียกว่า “ผ้าซัมปิน” และสวมหมวกทรงแข็งสีดำเรียกว่า “ซอเกาะ” ส่วนสตรีจะสวม “ชุดกุรง” ซึ่งเป็นเสื้อคลุมยาวถึงเข่า สวมทับกระโปรงยาว และสวมผ้าคลุมศีรษะสีสันสดใสสวยงาม เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวันฮารีรายออีดิลฟิตรี ซึ่งเป็นวันตรุษอิสลาม ที่ชาวไทยมุสลิมเฉลิมฉลองร่วมกัน หลังสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
     ในชุมชนปูยู ในวันฮารีรายอ ผู้ชาย จะสวมชุดตือโละบลางอ ส่วนผู้หญิง จะใส่ชุดกูบายา (หลากสี) ซึ่ง
ในปัจจุบันมีชุด ยูบ๊ะ (jubah) ที่เป็นเสื้อตามหลักศาสนาอิสลาม ในสมัยก่อนชุดยูบ๊ะจะมีผ้าคลุมใหญ่ๆ ที่เข้ากับชุด แต่ในปัจจุบันผ้าคลุมจะมีขนาดเล็กลง และมีสีสันสวยงามมากขึ้น และในแต่ละครอบครัวบางครั้งจะใส่เสื้อผ้าสีให้เป็นสีเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกัน ซึ่งมีความน่ารักและสวยงาม
     4. งานเลี้ยงกินนูหรี
งานเลี้ยงกินนูหรีเป็นงานเลี้ยงที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่สำคัญต่างๆ อาทิ โกนหัวเด็ก หลังจากคลอด 7 วัน งานกุรบาน เป็นการเชือดสัตว์เพื่อการพลี หรือตอนท้อง 7 เดือน จะมีการอาบน้ำคนท้อง ซึ่งเป็นประเพณีทางศาสนา โดยเชื่อว่าหากอาบน้ำตอนท้อง 7 เดือนจะทำให้คลอดง่าย และเป็นการล้างสิ่งไม่ดีออกไป ซึ่งพิธีนี้เกิดขึ้น เนื่องจากสมัยก่อนคนปูยูคลอดลูกกับหมอตำแย เพื่อสร้างกำลังใจให้กับแม่และครอบครัว จึงนิยมทำพิธีดังกล่าว ส่วนใหญ่มักทำเฉพาะลูกคนโตเท่านั้น ลักษณะการแต่งกายไปร่วมงานบุญ หรืองานนูหรีจะใช้ชุดกูบายา หรือสวมใส่ผ้าถุง กับเสื้อที่ตัดเย็บอย่างสวยงาม
     ถ้าผู้ที่มีโอกาสได้ไปเยือนชุมชนปูยู ในวันศุกร์ จะเห็นเด็กนักเรียนของโรงเรียนบ้านหาดทรายยาว และ โรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา สวมใส่เสื้อผ้าที่สวยงามตามหลักศาสนา เหมือนวันฮารีรายอ คุณครูได้บอกว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมการแต่งกายของมุสลิม และเด็กๆ ก็สามารถใส่ชุดสวยๆ ได้บ่อยขึ้น ไม่เพียงแค่ในวันรายอ ซึ่งเด็กๆ ก็ชอบเช่นกัน “ การอนุรักษ์วัฒนธรรม นุ่งห่มตามวิถีมุสลิม”
เอกสารอ้างอิง