ภูมิปัญญาชุมชน
ปูยู
เป็นความรู้ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมประสบการณ์ มายาวนาน และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต
ภูมินาม :
ภูมิปัญญาการใช้ภาษาที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานผศ.ดร. นิสากร กล้าณรงค์
     ภูมินาม (Place name) หมายถึง ชื่อเรียกสถานที่ต่างๆ ที่บ่งบอกลักษณะปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือ วัฒนธรรมของสถานที่นั้นๆ ซึ่งมีความสำคัญในการทำความเข้าใจที่มาของการตั้งชื่อสถานที่ ได้แก่ ชื่อเมือง และ ชื่อหมู่บ้าน เป็นต้นในการสร้างเรือนพื้นถิ่นมุสลิม คติความเชื่อค่อนข้างมีหลากหลาย บ้างก็ว่าทิศทางในการวางตัวเรือนให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยให้หลังคาลาดชันไปในทิศตะวันออก-ตก บ้างก็ว่าการปลูกสร้างเรือนก็ไม่นิยมให้ปลูกสร้างเรือนขวางตะวัน เนื่องจากมีความเชื่อว่า จะทำให้คนในบ้านอยู่อาศัยไม่มีความสุข อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคติความเชื่อเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการสร้างเรือนพื้นถิ่นลดน้อยลง องค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบของเรือนไทยมุสลิม ประกอบด้วย
     ชื่อของสถานที่ ประกอบด้วยสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นนามทั่วไป หรือ ชื่อทั่วไป (common/generic name) ชื่อทั่วไปจะปรากฏซ้ำ ๆ ในชื่อเรียกสถานที่ในพื้นที่ต่าง ๆ เนื่องจากมีลักษณะทั่วไป จึงพบชื่อทั่วไปซ้ำกันในชื่อหมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น บ้านควนสะตอ บ้านควนขนุน บ้านควนหิน บ้านควนดินแดง บ้านควนนกเต้น คำว่า “ควน” เป็น ชื่อทั่วไป หมายถึง บริเวณที่สูง หรือเนินเขา ซึ่งเป็นลักษณะภูมิประเทศที่พบได้ทั่วไปในภาคใต้ ส่วนที่สอง เป็นนามเฉพาะ หรือ ชื่อเฉพาะ (specific name) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ หรือพิเศษของพื้นที่นั้นที่บ่งบอกลักษณะของพืชพรรณ สัตว์ หรือภูมิประเทศ เช่น บ้านควนสะตอ ชื่อเฉพาะ คือ สะตอ ซึ่งเป็นพืชที่อยู่บนควน จึงเรียก หมู่บ้านนั้นว่า ควนสะตอ เพราะควนตรงนั้นมีความเฉพาะ คือ มีต้นสะตอ หรือ บ้านควนดินแดง มีลักษณะเฉพาะ คือ ควนนั้นเป็นดิน และ เป็นดินสีแดง จึงเรียก หมู่บ้านนั้นว่า ควนดินแดง ดังนั้น ภูมินามของหมู่บ้าน เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่สะท้อนผ่านชื่อหมู่บ้าน เนื่องจาก การตั้งชื่อหมู่บ้านมักจะมีความสัมพันธ์กับลักษณะเด่นของหมู่บ้านเมื่อแรกตั้งถิ่นฐาน ชื่อหมู่บ้านเป็นเสมือนการบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นมาของท้องถิ่นหนึ่งๆ ได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป แหล่ง หรือ สิ่งที่เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านอาจจะเปลี่ยนแปลงไป หรือสูญสิ้นไปจากพื้นที่ จนกระทั่งอาจไม่มีใครรู้ถึงที่มาและที่ไปของชื่อเลยก็ได้ คนที่อาศัยอยู่ในช่วงเวลาที่เริ่มตั้งถิ่นฐานอาจจะเสียชีวิต หรือ อายุมาก ประวัติการตั้งชื่อหมู่บ้านบางครั้งถูกบอกเล่าต่อๆ กันมาภายในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้น การรวบรวมที่มาของภูมินามหมู่บ้านจึงมีความจำเป็น และ ภูมินามของหมู่บ้านในตำบลปูยู เป็นการใช้ภาษาที่สื่อให้เห็นสภาพของพื้นที่ที่ตั้งถิ่นฐาน
     ตำบลปูยูมีการตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 200 ปี การตั้งถิ่นฐานเริ่มแรกของปูยูอยู่บริเวณ “ควนบ่อน้ำ” ควนบ่อน้ำ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตำบลปูยู โดยมีระยะทางจากเกาะปูยูไปประมาณ 4-5 กิโลเมตร ควนบ่อน้ำ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคิรีที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย และบริเวณควนบ่อน้ำจะมีน้ำผุด ซึ่งเป็นลำธารน้ำใต้ดินที่ไหลผุดขึ้นบนผิวดิน กระจายอยู่ทั่วไป ชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานจึงมีแหล่งน้ำใช้จากน้ำผุด โดยจะขุดเป็นบ่อ ในบริเวณใกล้บ้านของแต่ละคน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการบริโภคและอุปโภคได้ทั้งปี บริเวณตรงนี้ จึงถูกเรียกว่า ควนบ่อน้ำ เพราะบริเวณควนมีบ่อน้ำตามธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไป
     ชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ควนบ่อน้ำสมัยก่อนมีอาชีพทำสวนผลไม้ และประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาเหมาะสำหรับการปลูกผลไม้ ได้แก่ ทุเรียน ขนุน และมีแหล่งน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับการดำรงชีวิต ต่อมาได้มีการอพยพจากควนบ่อน้ำมายังเกาะปูยู ซึ่งมีการเล่าต่อๆ กันมาว่า ในช่วง ปี พ.ศ. 2484 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นขึ้นบกที่ควนบ่อน้ำ เกิดการต่อสู้จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เมื่อเหตุการณ์สงบชาวบ้านจึงกลัว ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นอีก จึงตัดสินใจอพยพเดินทางโดยเรือแจวมายังเกาะปูยู และบุกเบิก เริ่มตั้งถิ่นฐานที่เกาะปูยู แต่ชาวบ้านที่อพยพมาจากควนบ่อน้ำบางส่วนได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานที่เกาะปูยูเป็นการชั่วคราว และยังมีการเดินทางไปมาระหว่างเกาะปูยู และควนบ่อน้ำ เมื่อเหตุการณ์สงบชาวบ้านจึงตัดสินใจพากันอพยพทิ้งถิ่นฐานจากควนบ่อน้ำลงมาตั้งถิ่นฐานที่เกาะปูยูอย่างถาวร เชื่อกันว่าเหตุผลที่ไม่มีชาวบ้านตั้งถิ่นฐานที่ควนบ่อน้ำแล้ว เพราะเป็นที่ต้องห้ามของบรรพบุรุษในอดีต เนื่องจากควนบ่อน้ำเคยเป็นที่นองเลือดจากการสู้รบ และมาบุกเบิกพื้นที่ที่เกาะปูยูเป็นผืนนาปลูกข้าว สร้างสวนผลไม้ และปลูกเรือนอยู่อาศัย บางการบอกเล่า กล่าวว่าสาเหตุมาจากถูกปล้นโดยโจรจีนหางเปีย มาปล้นเอาทรัพย์สินเงินทอง เครื่องใช้ทำมาหากินของชาวบ้าน และ ลูกสาวของชาวบ้าน ผู้สูงอายุในหมู่บ้านสมัยนั้นจึงต่อสู้จนมีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อเหตุการณ์สงบลงชาวบ้านจึงกลัวว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นอีกจึงตัดสินใจอพยพออกจากควนบ่อน้ำ มาบุกเบิกเริ่มตั้งถิ่นฐานที่เกาะปูยู ปัจจุบันชาวบ้านยังทำกินบนควนบ่อน้ำประมาณ 100 กว่าราย ปลูกยางพาราและ ทำการเกษตรแบบสวนสมรม มีการบอกเล่าว่า สมัยก่อนที่จะมีน้ำประปาใช้ ในหน้าแล้งชาวบ้านจากปูยู จะมาอาบน้ำ และ ขนน้ำจากควนบ่อน้ำไปใช้ในหมู่บ้าน โดยนำไหซึ่งเป็นภาชนะที่ใช้ใส่น้ำบรรทุกเรือมา และมารองน้ำจากตาน้ำ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ทบ. 7 ( ควนบ่อน้ำ) ซึ่งยังพบเห็นซากไหที่แตกหักได้
     ปัจจุบัน ตำบลปูยูแบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่บ้าน คือ หมู่1 บ้านเกาะยาว หมู่ 2 บ้านตันหยงกาโบย และ หมู่ 3 บ้านปูยู ซึ่งชื่อของหมู่บ้านทั้ง 3 แห่ง ที่ชาวบ้านตั้งขึ้นเพื่อใช้เรียกหมู่บ้านเป็นภาษามลายู และ มีความสัมพันธ์กับลักษณะภูมิประเทศ และ ชีวภาค ( พืชและสัตว์ตามธรรมชาติ) ในพื้นที่
     หมู่ที่ 1 บ้านเกาะยาว หรือ ปูเลาปันยัง
จากชื่อบ้านเกาะยาว “เกาะ” หรือ “ปูเลา” คือ นามทั่วไป ที่หมายถึงลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะ หรือ แผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ และ “ยาว” หรือ “ปันยัง” เป็นนามเฉพาะ ซึ่งเป็นการบอกลักษณะของเกาะว่ามีความยาว บ้านเกาะยาว เป็นเกาะที่มีลักษณะยาว
     เกาะยาว เป็นหมู่บ้านที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน มีรูปร่างยาว มีการตั้งบ้านเรือนหนาแน่นอยู่บริเวณทางด้านหน้าของเกาะซึ่งเป็นที่ราบ และมีชายหาดซึ่งเป็นหาดทราย บริเวณหน้าอาคารด่านศุลกากรเกาะยาว ชายหาดของเกาะยาวส่วนใหญ่เป็นหาดหิน หินบนเกาะยาวมีสีแดง ยาวเป็นพืดติดต่อกัน มีความสวยงาม ชาวบ้านเรียกบริเวณหาดนี้ว่า หาดหินแดง
     หมู่ที่ 2 บ้านตันหยงกาโบย
บ้านตันหยงกาโบย มีการบอกเล่า ถึงที่มาของชื่อหมู่บ้าน 2 ที่มา โดยที่มาแรก ของชื่อ ตันหยงกาโบย ซึ่งหมายถึง บริเวณแหลมที่มีการจับจองเพื่อการตั้งถิ่นฐาน โดย คำว่า “ตันหยง” เป็นคำในภาษามลายู แปลว่า แหลม ส่วน “กาโบย” เป็นคำในภาษามลายูเช่นกัน แปลว่า “เจริญแล้ว จองแล้ว พัฒนาแล้ว” เนื่องจากชาวบ้านที่อพยพลงมาจากควนบ่อน้ำ มาตั้งถิ่นฐานเริ่มแรกในบริเวณที่เป็นที่ราบ มีพื้นที่สำหรับการสร้างบ้านเรือน และ ทำมาหากินที่สะดวกสบายกว่า ทั้งการทำนา และการทำประมง บริเวณนี้จึงมีความเจริญ มีการพัฒนากว่าควนบ่อน้ำ
     ส่วนอีกที่มาหนึ่งของชื่อ ตันหยงกาโบย คือ หมอกหัวแหลม เนื่องจากเดิม ก่อนจะเป็นตันหยงกาโบยมีชื่อว่า ตันหยงกาบูส “ตันหยง” เป็นคำในภาษามลายู แปลว่า แหลม ส่วน “กาบูส” เป็นคำในภาษามลายูเช่นกัน แปลว่า หมอก เนื่องจากบริเวณปลายแหลมจะมีหมอกในช่วงตอนเช้า มองมาจากที่ไกลๆ ก็จะเห็นกลุ่มหมอก จึงเรียกว่า ตันหยงกาบูส ต่อมาเรียกเพี้ยน เป็น ตันหยงกาโบย
     หมู่ที่ 3 บ้านปูยู
ปูยู เป็นคำในภาษามลายู แปลว่า ปลาหมอ ภาษามลายูเรียก อีกันปูยู ดังนั้นบ้านปูยู คือ บ้านปลาหมอ ซึ่งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของชื่อ ปูยู ว่าเดิมชาวบ้านปูยูอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณควนบ่อน้ำ อาชีพหลักคือการทำสวนผลไม้ และ การประมง วันหนึ่งมีชายคนหนึ่งออกเรือหาปลาตามปกติ แต่วันนั้นฝนตก ชายคนนั้นเห็นว่ามีปลาหมอฝูงใหญ่ว่ายทวนน้ำไปตามคลอง เขาจึงพายเรือตามฝูงปลาหมอไป จนเจอแผ่นดินที่เป็นที่ราบกว้างใหญ่ จึงกลับไปชักชวนครอบครัว ญาติ และเพื่อนบ้านมาตั้งถิ่นฐานกันบริเวณนี้ ซึ่งมีแหล่งน้ำจืด และมีพื้นที่สำหรับการทำนา และ ปลูกผลไม้ได้ บริเวณที่ตั้งถิ่นฐานนี้ จึงเรียกว่า บ้านปูยู ซึ่งบ้านปูยู มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ ในอดีตมีคลองปูยู เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นคลองน้ำจืด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำจำนวนมาก ทั้งปลาช่อน ปลาสลิด ปลาเดือน และปลาหมอ ซึ่งปลาหมอเป็นปลาที่มีมากที่สุด ปัจจุบันปลาหมอมีจำนวนไม่ชุกชุมเหมือนในอดีต จากการจับเกินจำนวน และ น้ำจืดในคลองได้เปลี่ยนเป็นน้ำกร่อย
     อีกหนึ่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับคำว่า ปูยู ชาวบ้านเล่ากันว่าความหมายของปูยู คือ ต้นเหงือกปลาหมอ ภาษามลายูถิ่น เรียกว่า ปอเกาะชาปูยู ซึ่ง ปอเกาะ หมายถึง ต้นไม้ ชาปูยู หมายถึง เหงือกปลาหมอ ซึ่งบนเกาะปูยูมีต้นเหงือกปลาหมอขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นในป่าชายเลน ซึ่งมีทั้งต้นเหงือกปลาหมอดอกขาว และ ต้นเหงือกปลาหมอดอกม่วง
     นอกจากนี้ ยังมีหมู่บ้านปูยู (Kumpong Puju) ในรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซียเช่นกัน เนื่องจากตำบลปูยู มีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ประชากรนับถือศาสนาอิสลาม พูดภาษามาลายู และมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับชาวมาเลเซีย ทำให้มีการเดินทางไปมาหาสู่กัน และติดต่อค้าขายกับผู้คนในรัฐปะลิส มายาวนาน ชาวบ้านเล่าว่า มีการย้ายถิ่นของคนจากตำบลปูยูเข้าไปตั้งถิ่นฐานในกำปงปูยู รัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย ตอนนั้นบริเวณกำปงปูยูมีคนปูยูที่มาจากจังหวัดสตูลอาศัยอยู่จำนวนมาก ชาวมาเลเซียเรียกหมู่บ้านบริเวณนั้นว่า บ้านของชาวปูยู ต่อมาจึงเรียกสั้นลงว่า บ้านปูยู หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า ชาวปูยูที่มาตั้งถิ่นฐานในประเทศมาเลเซีย อยากให้คนอื่นๆ รู้ว่าพวกเขาเป็นคนปูยู หรือ เพื่อต้องการบอกว่าพวกเขาเคยอยู่ที่บ้านปูยู จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อหมู่บ้านที่พวกเขาจากมา จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นว่า กำปงปูยู หรือ หมู่บ้านปูยู ซึ่งนอกจากกำปงปูยู ที่มีชื่อเหมือนกับบ้านปูยูแล้ว ในบริเวณอื่นๆ ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีคนไทยเข้าไปตั้งถิ่นฐาน ก็มีชื่อหมู่บ้านที่เหมือนกับชื่อหมู่บ้านในประเทศไทย ซึ่งผู้ตั้งถิ่นฐานในประเทศมาเลเซียตั้งตามถิ่นที่เขาจากมา เช่น บ้านลำปำ และ บ้านสงขลา เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง